2554-03-17

อนาคตพื้นที่ชายฝั่ง ปัญหาการเปลี่ยนแปลง

พื้นที่ราบชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองที่สำคัญที่สุดของประเทศนั้นเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นใหม่ คือส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 10,000 ปี โดยกระบวนการสะสมตัวของตะกอนจากทะเลและจากแม่น้ำภายใต้ภูมิอากาศ ลักษณะทางอุทกวิทยา สมุทรศาสตร์และระบบนิเวศที่เหมาะสม
แต่ชั้นตะกอนตังกล่าวนี้ยังไม่มีวิวัฒนาการทางธรณีวิทยาที่ยาวนานเพียงพอที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นชั้นตะกอนระดับตื้นเหล่านี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเมื่อสมดุลย์ระหว่างปัจจัยควบคุมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป เตรียมการเพื่อรับมือกับความเสี่ยง ความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

วิสัยทัศน์ ภายในปี พ.ศ. 2575 ที่ราบลุ่มชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนมีระบบการจัดการเชิงพื้นที่และเชิงสังคมที่สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในอย่างมีประสิทธิภาพและทุกฝ่ายยอมรับ
การรับมือจะต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับปัญหาทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงเวลา การดำเนินการและการลงทุนเพื่อรับมือกับปัญหาที่เร็วไปหรือช้าไป รวมทั้งการมองปัญหาที่ไม่ครอบคลุมปัจจัยและกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ทั้งปัจจัยทางธรรมชาติ เทคโนโลยีและความยอมรับจากภาคสังคม ล้วนแต่ทำให้เกิดปัญหาที่จะติดตามมาทั้งสิ้น
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการต่างๆ อยู่บนพื้นทางทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานะภาพทางเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่ การเตรียมการจึงต้องมีการดำเนินการในระยะยาว ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนอย่างเหมาะสม โดยมีแผนงานระยะประมาณ 20 ปี ซึ่งจะประกอบด้วย

ระยะเวลา
กิจกรรม           
เป้าหมาย
ปีที่ 1-3 
การรวบรวมข้อมูล การติดตามตรวจวัดอย่างละเอียด
ความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงของพื้นที่ต่อการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอกและภายใน

ปีที่ 4-8 
เวทีสาธารณะและเวทีเฉพาะกลุ่มเพื่อหารือและอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการ
แนวทางการดำเนินงานที่ทุกฝ่ายยอมรับ
ปีที่ 6-10           
การออกแบบ การเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร บุคคลากร งบประมาณ กฏระเบียบ โครงสร้างองค์กร ฯลฯ
ความพร้อมเพื่อการดำเนินการในทุกด้าน

ปีที่ 11-20
การดำเนินการ
ระบบการบริหารจัดการทั้งทางกายภาพ ทางนิเวศและทางสังคมเพื่อให้พื้นที่สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก


            โดยในช่วง 3 ปีแรก จะเป็นการสร้างความชัดเจนของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ การตรวจวัดและหาคำอธิบายที่ชัดเจนการเปลี่ยนแปลงทางดิ่งของพื้นผิว โครงสร้างทางทางธรณีและกระบวนการสมุทรศาสตร์อุทกวิทยาที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ซึ่งได้แก่
           ระดับทะเลทั้งระดับทะเลปานกลางและความแปรปรวนของระดับทะเลตามฤดูกาลหรือการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นเนื่องจากปัจจัยทางภูมิอากาศ
           ระดับของชั้นตะกอนตื้นและปัจจัยทางธรณีวิทยา อุทกวิทยา สมุทรศาสตร์และนิเวศวิทยาที่กำหนดเสถียรภาพและสมดุลย์ของแรงที่กระทำต่อชั้นตะกอน
           ระดับของชั้นทรายและปัจจัยทางอุทกธรณีของชั้นน้ำบาดาล
           ระดับของชั้นหินเปลือกโลกและกระบวนการทางธรณีฟิสิกส์และเทคโทนิคที่เกี่ยวข้อง  
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตเป็นปัญหาที่มีสาเหตุพื้นฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในภาพกว้างซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงนักกับการพัฒนาและระบบเศรษฐกิจสังคมภายในพื้นที่ แต่การพัฒนาต่างๆ ก็มีส่วนเสริมให้ความเสี่ยงและความเปราะบางเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งวาระเหล่านี้เป็นวาระที่เกิดขึ้นจริง การดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้จึงต้องเป็นการดำเนินการในระดับมหภาค ซึ่งอาจจะเทียบได้กับการตัดสินใจและดำเนินการเพื่อตั้งกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศเพื่อปี พ.ศ. 2325 ในหลังจากนั้น 250 ปี (พ.ศ. 2575) ก็อาจจะถึงเวลาที่จะต้องมีการดำเนินการขนาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งก็ได้ ซึ่งองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์และมีความเป็นบูรณาการจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง และน่าที่จะรอได้อีกไม่นานนัก
ข้อมูลจากเอกสาร : การสร้างความรู้ที่ชัดเจนเพื่อการคาดการณ์ความเสี่ยงและความเปราะบางของพื้นที่ราบชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนต่อการเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวมในอนาคต
ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภาพจากbangkokburt.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น