2554-03-25

บทสัมภาษณ์ประเด็นสถานการณ์ภัยพิบัติ ผ่านมุมมอง ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

มติชนออนไลน์" สัมภาษณ์พิเศษ  ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัย และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Q:  หลังเกิดโศกนาฎกรรมสึนามิในญี่ปุ่น คนไทย วิตกกังวลเรื่องภัยพิบัติกันมาก รู้สึกว่า เป็นภัยใกล้ตัวเข้ามาทุกที
A:   เวลาเกิดภัยพิบัติ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมวลชน ชีวิต ทรัพย์สิน หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจต่างๆ นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของภัย แผ่นดินไหวขนาดเท่ากัน น้ำท่วมขนาดเท่ากัน หรือสึนามิขนาดเท่ากัน ไม่ได้หมายความว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเท่ากัน  ขนาดของภัยต้นทางอาจจะมีผลแค่ 20-30 %  ส่วนอีก 60-70% อยู่ที่ความพร้อมในการรับมือ   ที่ญี่ปุ่นในตอนนี้เสียชีวิตไปเกือบหมื่น แต่ถ้ากรุงเทพฯไปตั้งอยู่ตรงนั้นอาจจะตายเป็นล้านก็ได้

นั่นเพราะความที่ไม่พร้อม ความที่ไม่ได้ใส่ใจ อาจทำให้เกิดความเสียหายได้มากกว่าเพราะฉะนั้นเวลามองประเทศไทย เราจะเห็นได้ว่า ขนาดของภัยเราน้อยกว่าประเทศอื่นตลอด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น เราสูสีกับเขา อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ คือ ปัญหาของเราต้องแก้ที่ตัวเราเอง
อย่างคนญี่ปุ่นเขาไปห้ามธรรมชาติไม่ได้ เขาแก้ที่ตัวเขาเต็มที่แล้ว  ก็ได้แค่นี้ แต่คนไทยไม่ต้องไปแก้ที่ธรรมชาติหรอก เพราะตัวเราเองยังมีช่องว่างให้แก้ได้อีกเยอะเลย   ผมเชื่อว่า ถ้าเรามีขีดความสามารถในการรับมือเท่าญี่ปุ่น ความสูญเสียจากภัยพิบัติในประเทศของเรา  แทบจะไม่มีเลย
Q: แล้วเราจะต้องเตรียมตัวในการรับมืออย่างไรบ้าง?
A:   ประการแรกเลย เราต้องเริ่มจากการประเมินความเสี่ยงให้ได้ก่อน ความเสี่ยงของเราถึงแม้จะน้อย แต่ก็มี เหตุการณ์บางอย่างอาจจะ 10 ปีมีครั้งแต่ก็เกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมา เรามักจะคิดว่า 10 ปีมีครั้ง   ฉะนั้นถือว่าไม่มี แต่พอเหตุการณ์เกิดขึ้น เราก็เดือดร้อน เราจึงจำเป็นต้องมีความพร้อมที่เพิ่มขึ้นในการรับมือ
คราวนี้ความพร้อมก็เกิดขึ้นจากหลายอย่าง สิ่งสำคัญประการแรกคือ ความรู้ เราต้องรู้ว่าพื้นที่ของเรา  มีความเสี่ยงเรื่องอะไร ประเทศเราไม่ได้เสี่ยงทุกเรื่อง ทุกที่ ทุกเวลา พื้นที่นี้อาจจะเสี่ยงเรื่องนี้   และเฉพาะในช่วงเวลานี้ของปี เพราะฉะนั้นทั้งในเชิงพื้นที่ และเวลา เราต้องรู้ให้ได้
ประการที่สอง เมื่อรู้แล้ว เราต้องมีแผนเตรียมการรับมือที่เหมาะสม   ปัญหาใหญ่ของบ้านเราอีกอย่างหนึ่ง คือ เราชอบ copy คนอื่นมา ไม่ว่าใครจะทำอะไร อย่างไร  ก็จะไปเอาวิธีการของเขามาทั้งดุ้น แต่กลับใช้ไม่ได้ผล เขามีหอเตือนภัย เราก็พยายามจะมีบ้าง   โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบท หรือปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรมของเรา
สิ่งที่ใช้ได้ดีในที่อื่นๆ ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ดีกับบ้านเรา ของหลายๆอย่างที่สุดท้าย  กลายเป็นราวตากผ้าก็มีตั้งเยอะ
ประการที่สาม เราต้องรู้จักที่จะลงทุน ต้องรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องของความจำเป็น เป็นปัญหาที่ควรรับมือ อย่าคิดว่าทุกอย่างเป็นภาระ เราต้องมองภาพใหญ่ให้ออกว่า เวลาลงทุนตรงนี้แล้ว   เม็ดเงินที่ใช้ในระยะยาว จะน้อยกว่าการรอให้ปัญหาเกิดขึ้น แล้วค่อยแก้ไข
Q: เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะลงทุนตรงนี้ หรือไม่ควรจะลงทุนตรงนี้ และการลงทุนจะคุ้มค่า หรือไม่?
A: อย่างที่บอกว่า สิ่งที่เราต้องมี คือ การประเมินความเสี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาที่ต้องมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ความว่า เราจะต้องรู้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดวันไหน หรือปีไหน เราไม่สามารถจะพยากรณ์อย่างนั้นได้ แต่อย่างน้อย เราควรจะรู้ในช่วงกว้างๆว่า โอกาสที่จะเกิด  เหตุการณ์เหล่านี้อยู่ในช่วง 10 ปีมีครั้ง หรือ 100 ปีมีครั้ง
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจในเรื่องของการจัดการความเสี่ยง อย่างถ้าเราบอกว่า100 ปีจะมีครั้งหนึ่ง  สู้รอให้เกิดขึ้นมาเลยก็น่าจะถูกกว่าไปลงทุน แต่ถ้า 10 ปีมีครั้งก็อาจจะคุ้มค่า  
ผมคิดว่าในประเทศไทย เราพอที่จะหาข้อมูลในเรื่องพวกนี้ได้เกือบทั้งหมด    แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เวลาเรามีวิกฤตให้แก้ ต่างฝ่ายก็จะมีคำตอบอยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้   ทุกคนมีธงของตัวเองเสมอ ถ้าไม่ใช่ธงของฉัน ฉันก็จะไม่รับ การแก้ปัญหาแบบนี้จึงนำไปสู่  ความล้มเหลวในการตกลงร่วมกัน เพราะไม่ได้เอาปัญหาเป็นตัวตั้งไม่ได้มองภาพรวมของวิกฤตที่เกิดขึ้น
อย่างกรณีพื้นกรุงเทพและปริมณฑล เรารู้อยู่แล้วว่า ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เกิดแผ่นดินทรุด  น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น แต่พอเอาคนมาพูดคุยกัน กลับหาข้อยุติไม่ได้ พวกที่จะสร้างเขื่อนก็จะสร้าง   พวกที่จะปลูกป่าชายเลนก็จะปลูกอย่างเดียว อย่างอื่นไม่สน คือทุกคนมีคำตอบของตัวเองหมด  การแก้ไขปัญหาร่วมกันก็เลยไม่สำเร็จ
Q: หมายความว่า เราไม่มีหน่วยงานที่จะตัดสินใจ หรือมีหน่วยงานเยอะเกินไป แต่ไม่มีการบูรณาการที่ดีอย่างนั้นหรือเปล่า?
 A: ใช่...แล้วเราก็ยังขาดส่วนสำคัญอีก 2 ส่วน อย่างแรกคือ เราขาดเวที ไม่ใช่เวทีแบบที่แค่มานั่งคุย
แต่เป็นเวทีในลักษณะของการแก้ปัญหาที่มีความต่อเนื่อง และไม่จำเป็นต้องจัดตั้งโดยรัฐเพียงอย่างเดียว  อีกอย่างที่สำคัญมาก คือ ความใจกว้าง เพราะตอนนี้คนไทยใจแคบลงไปทุกที ทุกเรื่องเลย   และนับวันกรอบนี้ก็จะยิ่งเล็กลงๆ แต่กลับไม่หลอมเป็นหนึ่งเดียวกัน เราก็ไม่รู้จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
Q: สงสัยเราต้องรอให้วิกฤตข้างในเกิดก่อนใช่หรือเปล่า?
A: จริงๆวิกฤตที่เคยเกิดขึ้น เรามักจะแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า ซึ่งคนไทยเก่งเรื่องนี้   แต่พอผ่านไปสักปีสองปี ก็เกิดขึ้นใหม่อีกแล้ว คือ เราไม่คิดจะใช้วิกฤตอันนั้นให้เป็นโอกาส  ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่สามารถทำอะไรให้เกิดความต่อเนื่องได้เสียที
Q: ถ้าแก้ปัญหาโดยให้รัฐบาลเรียกประชุมสักทีหนึ่ง มีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ แล้วเอาทุกเรื่องมาคุยกัน อย่างนี้จะดีหรือเปล่า?
A: ผมไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ ผมไม่คิดว่านายกฯสำหรับเมืองไทย จะเป็นคนที่มีบารมีหรืออำนาจที่
แท้จริงในการชักจูงคนทั้งหมดได้ เขาชักจูงได้เฉพาะคนที่เขาอาจมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้เท่านั้น
Q: เวลาเราเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ทำไมประเทศเขาถึงมีการบริหารจัดการ และการรับมือป้องกันวิกฤตต่างๆได้ดี?
A: ผมมองว่าเป็นเพราะความตระหนักส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  นายกฯญี่ปุ่นเขาก็ไม่ได้มานั่งหัวโต๊ะ คนเขาเป็นอย่างนั้นเองอยู่แล้ว ไม่ต้องมีใครมาบอก  คงเป็นเพราะเป็นค่านิยม ที่หากใครไม่ทำตามนั้น ก็จะถูกมองเป็นคนแปลกแยกจากสังคม
แต่บ้านเราไม่มีค่านิยมแบบนั้น การทำอะไรเพื่อคนอื่น หรือเพื่อส่วนรวมไม่ได้เป็นสิ่งที่ได้รับการชื่นชมมากเท่าที่ควร แต่คนไทยกลับไปให้การชื่นชมยอมรับกับอะไรที่เด่นดัง    ต้องที่สุดในโลก แต่ไม่ได้ร่วมมือกัน ไม่ได้ไปด้วยกัน
ที่ญี่ปุ่นอาจจะไม่มีใครเด่นเลยสักคน แต่เขารวมพลังจากคนจำนวนมาก จึงสามารถจะ ขับเคลื่อนอะไรไปได้ ถ้าคนญี่ปุ่นคิดว่าต่างคนต่างจะต้องเด่นกว่าคนอื่น   เขาคงก้าวมาไม่ถึงขนาดนี้ และความตระหนักส่วนตัวก็คงจะไม่เกิดขึ้น
Q: อาจารย์พูดเหมือนกับว่า แทบจะไม่มีทางออกเลย คือ ด้วยนิสัยของคนไทยอย่างนี้  ไม่มีใครฟังใคร ทุกคนมีธงส่วนตัวกันหมด แล้วเราจะแก้ไขปัญหาใหญ่ๆที่รออยู่อย่างไรดีครับ?
A: คือถ้าจะเปลี่ยนพื้นฐาน คงจะเปลี่ยนไม่ได้ง่ายๆ หรืออาจจะเปลี่ยนไม่ได้เลย  เราอาจจะต้องเอาตรงนี้เป็นเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดของบ้านเรา   เพราะฉะนั้น วิธีการที่เขาใช้ได้ที่ญี่ปุ่น ไม่มีทางที่จะเอามาใช้ที่เมืองไทยได้   บางทีการไปดูงานที่ญี่ปุ่น ดูกันให้ตาย ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราอาจจะต้องกลับมาคิดค้นวิธีของเราที่เหมาะสมกับนิสัยแบบนี้ ซึ่งผมเชื่อว่านิสัยแบบนี้ ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่เป็นอาจจะมีอีกหลายประเทศที่เป็นแบบนี้ก็ได้
Q: อาจารย์มีคำแนะนำอะไรเกี่ยวกับสร้างระบบป้องกันสำหรับภัยพิบัติ และการลงทุนสร้างระบบป้องกันอย่างไร
A: คืออย่างแรกเลย ก่อนเราจะลงทุนอะไร ผมมองว่า เราต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่ถูกต้องก่อน  พอเรารู้ความเสี่ยงที่แท้จริง เราจะได้รู้ว่าธงที่ตั้งมันไม่ใช่ คือไม่ใช่ว่าน้ำท่วมจะต้องแก้แบบนี้  แผ่นดินไหวจะต้องแก้แบบนี้ ยังมีวิธีทางอื่นอีกหลายทางที่จะแก้ไข
Q: ในประเทศไทย มีเปลือกโลกส่วนไหนที่ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว?
A: ในบ้านเรามีรอยเลื่อนอยู่ประมาณ 10 กว่าแห่งที่ยังขยับตัวได้ ส่วนใหญ่ประมาณ 6-7 แห่ง อยู่ในภาคเหนือ เช่นที่เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน รองลงมาก็ภาคตะวันตก 2-3 แห่ง  อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่ภาคอีสาน แถวๆหนองคาย รอยเลื่อนพวกนี้ยังมีการขยับอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้รุนแรง
สำหรับประเทศไทย ระดับความรุนแรงแค่ 5 ริกเตอร์ก็ถือว่าเยอะแล้ว  ระดับ 6 ริกเตอร์คงไม่มี คือ แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางเกิดขึ้นในประเทศไทยเอง ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง
สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารสร้างใหม่ และมีการสร้างตามหลักวิศวกรรม ยังถือว่ารับมือกับแรงสั่นสะเทือนได้ทั้งหมด
แต่ปัญหาอยู่ที่อาคารเก่า ซึ่งไม่ได้สร้างตามหลักวิศวกรรมที่เหมาะสมและยังขาดการบำรุงรักษา  โดยอาคารเหล่านี้ มีอยู่นับล้านแห่งทั่วประเทศ การจะให้กรมโยธาฯไปตรวจทุกบ้านคงเป็นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ประชาชนผู้อยู่อาศัยก็ควรจะดูแล หรือปรึกษาหาความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในส่วนของรัฐบาลอาจจะช่วยได้โดยการตั้งเป็นกลุ่มวิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านนี้ขึ้นมาช่วยเหลือประชาชนอีกทางหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ให้เขาต้องไปเดินเคาะประตูบ้าน คือ ต้องเป็นสำนึกของเจ้าของบ้านด้วย
Q: ถ้ามองเรื่องของการรับมือ และระบบเตือนภัยต่างๆ ผ่านงบประมาณของรัฐ การจัดงบประมาณประจำปีของรัฐให้กับภัยพิบัติ และภัยสาธารณะเป็นอย่างไรบ้าง?
A: ผมมองว่า ก็ไม่เลวจนเกินไปนัก คืองบประมาณที่ใช้รับมือในเรื่องพวกนี้ ทั้งในระดับ ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ก็มีอยู่หลายพันล้านบาท ในแง่ของตัวเงินก็พอใช้ได้   แต่ความสำคัญอยู่ที่ตัวเนื้อหา (content) และวิธีการที่ใช้ในการเตือนภัยมากกว่า
คือ เรามักจะไปให้ความสำคัญกับพวก infrastructure พวกหอเตือนภัยมากเกินไป   แต่การเตือนภัยมันไม่ใช่เฉพาะตอนเกิดเหตุแล้ว แต่ต้องเป็นการให้ความรู้กับคน  เพื่อเตรียมรับมือ เตรียมความพร้อม และลดความเสี่ยงก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุด้วย
ผมมองว่า ในจุดนี้ยังไม่ได้รับการผลักดัน หรือมีการโปรโมตให้มองเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในส่วนนี้จะไปอยู่ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเขาจะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า แต่การเตรียมการก่อนเกิดภัย ผมคิดว่า เขายังไม่มีความรู้    ผมว่าเขาอยากทำนะ ไม่ใช่ไม่อยาก คือกลายเป็นว่าหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับภัยพิบัติในเมืองไทย ฮีโร่คือคนที่มาตอนเกิดเหตุการณ์แล้ว
ส่วนคนที่มาเตรียมการล่วงหน้าไม่เคยได้เป็นฮีโร่ ไม่เคยได้รับความสำคัญ   คนจึงอยากไปอยู่ในส่วนแรกมากกว่า ก็เลยนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดทาง   ผมมองว่า เราควรจะให้รางวัลแก่ชุมชนที่ป้องกันภัยได้ดี และไม่เกิดความเสียหายด้วยซ้ำ
Q: แนวคิดเรื่องการเฝ้าระวังภัยพิบัติต่างๆ ควรจะใส่เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนหรือไม่?
A: จริงๆ ก็มีอยู่แล้ว มีมากพอสมควร ผมว่าในเรื่องของการศึกษาตำรับตำราที่มีอยู่ก็มีคุณภาพที่ใช้ได้ แต่พอไปถึงในระดับโรงเรียนแล้ว  ครูอาจจะไม่ได้ตระหนัก ไม่ได้เข้าใจเนื้อสาระตรงนั้นได้อย่างครบถ้วน  เพราะหลักสูตรมีการพัฒนาเร็ว แต่ครูพัฒนาช้า ตามไม่ทัน  คือ ผมว่าครูของเรางานเยอะมาก ทั้งงานธุรการ งานฝาก งานสอน ซึ่งผิดมากเลย  เราควรจะมีเวลาให้ครูได้ไปเพิ่มพูนความรู้ แต่ก็โทษครูไม่ได้ เพราะระบบมันแย่   เรื่องจำเป็นเหล่านี้จึงมักไปไม่ถึงผู้เรียน
อีกอย่างหนึ่ง เด็กเองก็เรียนเยอะเกินไป เราพยายามอัดอะไรไม่รู้ให้เด็ก  แต่เรื่องจะสอนให้เป็นคนไม่เห็นมี มุ่งเน้นไปที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว
Q: แล้วเรื่องการระแวดระวังในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จริงๆควรจะวิตกกังวัล ขนาดนั้นหรือเปล่า? เพราะพอเห็นภาพที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น คนไทยก็รู้สึกตกใจ
A: คือเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะมีอยู่ 2 เรื่อง  อย่างแรก คือเรื่องการยอมรับในความสามารถของบุคคล คือคนไทยจะไม่ค่อยไว้ใจความรับผิดชอบของบุคลากรของเรา เพราะเคยมีตัวอย่างให้เห็นในเรื่องของความบกพร่องในหน้าที่ ซึ่งจริงๆในทุกวงการก็มีทั้งบุคลากรที่มีทั้งดีและไม่ดี  แต่เรามักจะจดจำกับเหตุการณ์ที่ไม่ดี เช่น ตึกที่เคยถล่มที่โคราชเพราะว่าออกแบบผิดพลาดพอไปจำอย่างนั้นแล้วก็แก้ยาก เพราะทำให้ภาพของวงการวิศวกร หรือวงการวิทยาศาสตร์ดูไม่ดี
 อย่างที่สอง คือ ทิศทางการพัฒนาด้านพลังงาน เราควรจะไปทางนั้นหรือเปล่า คือ ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง ถึงมีก็เล็กน้อย   เพราะฉะนั้นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก เราจึงต้องนำเข้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ต้องนำเข้า จึงทำให้เราต้องพึ่งพิงตรงนี้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมาดูว่า  เราจะเดินทางไปในทิศทางนี้ มากน้อยขนาดไหน
ที่ผ่านมา ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของประเทศไทย ผมว่าเราแย่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ปริมาณคาร์บอนต่อ GDP ไม่คุ้มค่า เราเผาน้ำมัน 1 ลิตร แต่เราได้เงินมานิดเดียว ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆได้มากกว่าเรา 3-4 เท่า  เรื่องประสิทธิภาพของการใช้พลังงานมันส่อให้เห็นถึงความไม่ตระหนักของคนในประเทศ  รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ดีพอเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ซึ่งเราก็คงต้องแก้กันอีกเยอะ
 ส่วนตัวผมคิดว่า อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก อย่างถลุงเหล็ก นั้นไม่ค่อยเหมาะที่จะมาทำในประเทศไทย และต่อไปเราจะรวมกันเป็นอาเซียนแล้ว ประเทศอย่างเช่นเวียดนาม เขามีแหล่งพลังงานของเขาเยอะ ทั้งน้ำมัน ทั้งถ่านหิน เขาก็มี ทำไมไม่เอาอุตสาหกรรมพวกต้นน้ำให้อยู่ที่เขา   และมาทำงานร่วมกันในลักษณะภูมิภาค  บ้านเรา เราน่าจะทำในส่วนของ serviceมากกว่า เพราะว่าเรื่องการบริการ เราเหนือกว่าหลายๆประเทศ     เรามีจุดแข็งทางด้านการบริการ เรามีจุดอ่อนทางด้านพลังงาน
เรื่องภูมิประเทศต่างๆ เราก็มีความปลอดภัย เพราะเราไม่ค่อยเปิดรับกับความเสี่ยงเท่าไร  เมื่อเทียบกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เราเสี่ยงน้อยกว่าเขามาก
เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมหนัก เราไม่ค่อยเหมาะ เช่นจะไปแข่งท่าเรือกับสิงคโปร์ก็แข่งยากแต่บางอย่าง สถานที่เราเหมาะ แต่เราก็ไม่ค่อยทำ อย่างการพัฒนาเรื่องซอฟแวร์   ทั้งหลาย เราทำได้ดี คือ เราสามารถจะชักจูงพวกวิศวกรต่างๆมาอยู่ในเมืองไทยได้   เพราะพวกนักคิดเหล่านี้ เขาต้องการอยู่อย่างสบาย มันจะได้มีอารมณ์ในการคิด  ถ้าเผื่อเราตั้งระบบเหล่านี้ขึ้นมา แล้วทำให้คนมาอยู่  ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่เป็นอันดับต้นๆของโลก คือตอนนี้ยังไม่ใช่เลยนะ
ถ้าเผื่อเราทำตรงนั้นได้ คือทำให้มีความปลอดภัย ขโมย โจรต่างๆต้องลดให้ได้  พวกนี้เป็นศักยภาพที่เราควรจะทำได้ และไม่ต้องลงทุนอะไรมาก   ไม่ได้ใช้ทรัพยากรมากและไม่ได้ใช้พลังงานมาก
Q: โอกาสที่จะเกิดสึนามิขึ้นอีกในบ้านเรา และการเตรียมรับมือป้องกันภัยมีความพร้อมมากแค่ไหน?
A: ในส่วนของอ่าวไทย ยังเสี่ยงค่อนข้างน้อย คือไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโอกาสเกิดสึนามิ เพียงแต่ว่า คลื่นที่เข้ามาไม่น่าจะสูงใหญ่ ยกเว้นจังหวัดอื่นทางใต้ที่ติดแถบมาเลเซีย   มาเลเซียเสี่ยงมากกว่าเรา เพราะพื้นที่ของเราส่วนใหญ่เข้ามาในตัวอ่าว น้ำมันตื้น คลื่นมันก็จะเสียพลังงานเยอะ   แต่ฝั่งอันดามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร 
ถ้าดูจากข้อมูลที่เคยบันทึกไว้ในชั้นดินบริเวณชายฝั่ง ที่จุฬาฯได้ศึกษา พบว่า   วงรอบของการเกิดเป็นร้อยปี ถ้าใหญ่ๆจริงๆ คือประมาณ 700 ปีถึงจะเกิดครั้งหนึ่ง   ครั้งก่อนเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี  และมาใหญ่อีกทีก็   เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอย่างเล็กๆจะไม่มี และอย่างเล็กก็ยัง สร้างความเสียหายได้พอสมควร แต่ว่าข้อดีของทางฝั่งอันดามัน คือ เรามีเวลาเตือนภัยน่าจะ  ประมาณ 2 ชั่วโมง แต่อย่างมากก็ได้แค่เอาตัวรอด เรื่องสิ่งก่อสร้าง ทรัพย์สินคงป้องกันได้ไม่มาก
Q: เวลาอาจารย์ดูภาพเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น อาจารย์ได้ข้อสังเกตอะไรบ้างหรือไม่?
A: อาจจะคล้ายๆหลายคน คือผมมองว่า เขาทำได้ดีในเรื่องของการรับมือกับภัยพิบัติ การเตรียมตัวล่วงหน้า การรับมือระหว่างเกิดเหตุ และรวมถึงหลังเกิดเหตุ ผมไม่คิดว่ามีประเทศ ไหนน่าจะทำได้ดีกว่านี้อีกแล้ว ผมว่านี่คือดีที่สุดที่จะเป็นไปได้ในความเป็นจริงแล้ว  ในที่อื่นๆเท่าที่เห็นมาแย่กว่านี้ทั้งนั้น แต่เราดูเขา เราชื่นชมเขา แต่ผมคิดว่า เราไม่สามารถ นำระบบของเขามาใช้ในเมืองไทยได้ เราคงต้องมีระบบที่เป็นของเราเอง ซึ่งอาจจะไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าเขา แต่ก็น่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
Q: ในเรื่องของสารกัมมันตรังสี มีโอกาสส่งผลกระทบกับประเทศไทย ไหม
A: สารกัมมันตังสี ถ้าเผื่อมีการปล่อยออกมาเยอะจริง สมมติถ้าเกิดเหตุร้ายแรงมากกว่านี้ซึ่งผมคิดว่าคงไม่เกิดแล้ว
 แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็จะอยู่ในเส้นทาง เพราะลักษณะของอากาศที่เป็นมวลอากาศเย็น ทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ  วนตามเข็มนาฬิกา คือ จากญี่ปุ่น วกมาฟิลิปปินส์ เวียดนามและไทย อันนี้คือ ถ้าเผื่อเกิดอะไรขึ้น เราเองก็อยู่ในเส้นทาง
คืออากาศจะมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ คือ อากาศชั้นบน และอากาศชั้นล่าง ที่ผมพูดนี่คืออากาศชั้นล่าง  แต่ถ้าสมมติมันพุ่งขึ้นไปสูงในระดับอากาศชั้นบน อันนี้มันจะไปทางตะวันออก มุ่งไปฮาวาย อเมริกา  อันนี้คือ Jet stream แต่ผมเชื่อว่าตอนนี้ไม่น่าจะมีอะไรร้ายแรงแล้ว
 

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ2 เมษายน 2554 เวลา 06:13

    จะเดินทางไปประชุมที่เกียวโต25มิยนี้ ควรเดินทางหรือไม่ ใครแนะนำได้บ้าง

    ตอบลบ