2554-02-19

วิสัยทัศน์เพื่อการจัดการน้ำในอนาคต

ภาวะเรือนกระจกเนื่องมาจากก๊าซเรือนกระจกหลากชนิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศในหลายรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้กระจายของความร้อน ความชื้นและปริมาณเมฆในชั้นบรรยากาศในแต่ละฤดูกาลมีความแปรปรวนผิดแผกไปจากเดิมอีกด้วย 

ถึงแม้ว่าประเทศไทยอาจจะได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยเฉลี่ยน้อยกว่าอีกหลายๆ ประเทศ แต่ความแปรปรวนที่อาจจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะปริมาณฝน จำนวนวันฝนตก ระยะเวลาการทิ้งช่วง รวมทั้งอุณหภูมิอากาศและความเร็วลม ซึ่งจะมีผลต่อการคายและการระเหยของน้ำอีกด้วย ก็อาจจะส่งผลต่อปริมาณน้ำสุทธิของแต่ละลุ่มน้ำที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในบางลุ่มน้ำซึ่งอัตราการใช้น้ำต่อปริมาณน้ำต้นทุนมีสัดส่วนที่ใกล้กัน ดังนั้นประเด็นปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อทรัพยากรน้ำยิ่งมีความสำคัญ  

2554-02-18

การรับมือกับภูมิอากาศในระดับชุมชน

ทำไมการรับมือกับภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจึงเหมาะที่จะดำเนินการในระดับชุมชนในภาพเชิงกว้าง มากกว่าการใช้มาตรการระดับครัวเรือนหรือระดับปัจเจกบุคคล?
ชุมชนเป็นหน่วยทางสังคมที่มีสเกลเชิงพื้นที่ที่มีขนาดหลายพันจนถึงหลายหมื่นไร่ และมีเสกลการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจจะต้องใช้เวลาในระดับหลายๆ ปีถึงระดับทศวรรษ ซึ่งมาตราส่วนในระดับนี้เป็นมาตราส่วนระดับภูมิอากาศ ในขณะที่การตอบสนองในระดับครัวเรือนและระดับปัจเจกจะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงต่อการตอบสนองกับลักษณะและความแปรปรวนของสภาพอากาศที่มักจะเกิดขึ้นในระดับพื้นที่ทำกิน แปลงนา บ้านเรือน และเสกลเชิงเวลาในระดับของวันต่อวัน ฤดูต่อฤดูหรือปีต่อปีเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรการระดับครัวเรือนระยะสั้นเหล่านี้อาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับภูมิอากาศก็ได้โดยที่อาจจะไม่ส่งผลสุทธิต่อต้นทุนต่างๆ ของครัวเรือนมากนัก

การรับมือกับลักษณะอากาศ...การปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศ

ลักษณะอากาศ (weather) คือเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ณ เวลาและสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกหรือเชิงลบต่อกิจกรรมชีวิตความเป็นอยู่ของคนและสังคม เช่น ฝนตก น้ำท่วม อากาศร้อนจัดหนาวจัด เป็นต้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะมากหรือน้อยก็จะขึ้นกับความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ (risk) ความอ่อนไหว (sensitivity) และศักยภาพในการตอบสนองหรือรับมือต่อเหตุการณ์ (coping capacity) ซึ่งปัจเจกบุคคลและครัวเรือนที่เป็นสมาชิกในชุมชนนั้นๆ แต่ละรายก็จะมีความเปราะบาง (vulnerability) ต่อลักษณะอากาศที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากขีดความสามารถในการรับมือที่แตกต่างกันซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะตัวหรือเฉพาะครัวเรือน การปรับการรับมือที่ระดับบุคคลหรือระดับครัวเรือนมักจะเป็นการปรับตัวที่มีประสิทธิผลสูงต่อการตอบสนองต่อลักษณะอากาศ

เวทีเริ่มต้นเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาพื้นที่อ่าวไทยตอนบน


18 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการศึกษาเพื่อกำหนดเป้าหมาย ด้านการจัดการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรพื้นที่ชายฝั่งของไทยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เป็นการร่วมประชุมครั้งใหญ่จากหลายภาคส่วน เพื่อนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัย ระดมสมอง เพื่อช่วยกันป้องกันการเกิดอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ชายฝั่งของไทยให้มีความปลอดภัย อีกทั้งเพื่อศึกษา กระบวนการ หรือขั้นตอนที่จำเป็นในการจัดการระบบน้ำในประเทศไทยในบริเวณพื้นที่เสี่ยง และสรุปการศึกษาความเป็นไปได้และสิ่งที่จะเกิดขึ้นของแผนในบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำในอนาคตทั้งในระยะสั้นระยะยาว 

2554-02-17

จำเป็นต้องรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ในระดับพื้นที่ ผลกระทบหรือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใดๆ ที่เกิดขึ้นจะจำเพาะกับลักษณะพื้นที่นั้น ซึ่งอาจจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกับพื้นที่อื่นๆ และส่วนใหญ่เป็นการตอบสนองหรือตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อสภาพหรือเหตุการณ์ในปัจจุบัน โดยชุมชนเป็นผู้คัดเลือกและหาแนวทางการตั้งรับปรับตัวจากประสบการณ์และความรู้ที่ชุมชนมีอยู่เองมากกว่าที่จะให้หน่วยงานจากภายนอกเข้าไปดำเนินการให้ บทบาทของหน่วยงานภายนอกจึงเป็นเพียงการให้คำแนะนำและข้อมูลตลอดจนการส่งเสริมสำหรับการหาแนวทางเสริมหรือการปรับตัวอื่นๆ ที่อาจจะเป็นไปได้
 หากการปรับที่ชุมชนได้ทำขึ้นนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล ทำให้แนวทางหรือมาตรการในการรับมือตลอดจนการปรับตัวที่เกิดขึ้นใดๆ จึงเกิดจากการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนหรือชุมชนท้องถิ่นนั้นเองอย่างแท้จริง และจากบทเรียนหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถประยุกต์ใช้ได้กับพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกันทั้งลักษณะทางกายภาพ และลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมได้
 

เวทีการประชุมโลกร้อน cop 16

เมื่อเวทีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 16 หรือ Cop-16 ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย. -10 ธ.ค. จบลง ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ขณะ เดียวกันประเทศหมู่เกาะก็พยายามขอร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วช่วยเซ็นกันที่เถอะ พวกเขาจะไม่รอดกันอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เคยได้รับการเห็นใจแต่อย่างใด
หาก ย้อนกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับเวทีเหล่านี้ ย้อนไปเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีการประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเพื่อ เตรียมการก่อนที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน ผลสรุปคือ ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด นั่นคือเนื่องจาก จีน-สหรัฐฯ สองชาติมหาอำนาจ ผู้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรายใหญ่อันดับ 1 และ 2 ไม่สามารถตกลงกันได้