2554-02-22

กรณีศึกษาทางการรับมือในอนาคตของชุมชนเกษตรกรรมชายฝั่ง บ้านคลองประสงค์

บ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและต้องเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลหนุน ซึ่งสภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่จะทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งปัญหาจากน้ำทะเลหนุนยังคงเป็นปัญหาหลักของการปลูกข้าวที่นี่ โดยชาวบ้านตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ปัญหานี้นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ด้วยเหตุนี้ทางประธานกลุ่มชาวนาบ้านเกาะกลางจึงได้ทดลองสร้างคันดินขนาดเล็กในที่นาของตนเอง เพื่อเป็นการทดลองกั้นน้ำเค็มและพบว่าได้ผลดี ต่อมาจึงได้เสนอโครงการคันดินกั้นน้ำขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งประกอบด้วยแนวคันดินกั้นน้ำสำหรับพื้นที่นาข้าวในหมู่ที่ 1 รวมระยะทางประมาณ 6.7 กม

2554-02-21

บทสรุปภูมิอากาศในอนาคตที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ

ภูมิอากาศของประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2570
การคาดการณ์ภูมิอากาศของประเทศไทยตามแนวทางการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกแบบ A2 และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับโลกโดยใช้แบบจำลอง ECHAM4 พบว่าอุณหภูมิสูงสุดของประเทศในช่วง 20-30 ปีในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเกือบทั้งประเทศ โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้จะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือประมาณ 1-2 องศาเซลเซียสจากปัจจุบัน

สำหรับปริมาณฝนจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างค่อนข้างชัดเจนเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่น่าจะมีกำลังแรงขึ้นกว่าในปัจจุบัน ซึ่งใด้แก่ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและชายฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออกบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราด พื้นที่เหล่านี้ในปัจจุบันก็เป็นพื้นที่ที่มีฝนมากอยู่แล้ว ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น การเปลี่ยนแปลงของฝนอันเนื่องมาจากลมมรสุมจะมีทิศทางที่อาจจะลดลงเล็กน้อย  เนื่องจากการกระบวนการเกิดฝนเนื่องมาจากการยกตัวของมวลอากาศบริเวณชายฝั่งจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้ความชื้นในอากาศถูกสกัดออกมาจากมวลอากาศมากขึ้นและเหลือผ่านเข้าไปในแผ่นดินตอนในน้อยลง ซึ่งเมื่อประกอบกับจำนวนพายุหมุนเขตร้อนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จึงน่าที่จะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ห่างไกลจากทะเลของประเทศไทยมีปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดลง
ลมมรสุมที่มีกำลังแรงขึ้นจะทำให้ระดับน้ำบริเวณชายฝั่งมีความแปรปรวนตามฤดูกาลเพิ่มมากขึ้นกว่าการเพิ่มของระดับน้ำทะเลเฉลี่ย เนื่องมาจากปริมาตรน้ำในมหาสมุทรโลกแต่เพียงลำพัง ดังนั้นผลกระทบจากระดับน้ำทะเลในช่วงที่ลมมรสุมพัดเข้าหาชายฝั่งจึงจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่งและการรุกของน้ำเค็มเข้าไปในแหล่งน้ำจืดบริเวณชายฝั่ง

2554-02-20

วิสัยทัศน์การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ


พื้นที่ที่มีความเสี่ยงและเปราะบางของประเทศไทย คือ พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มากมายและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ อาทิ เช่น การเกษตร อุตสาหกรรม โรงงาน การประมง การท่องเที่ยว โดยข้อมูลจาก สศช. ในปี 2551 แสดงว่า มูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของพื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)  ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การทรุดตัวของแผ่นดิน  การเปลี่ยนแปลงของมรสุม และน้ำท่วม ซึ่งหากไม่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทางการพัฒนา และดำเนินการเพื่อรับมือในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเหมาะสมแล้ว จะยิ่งส่งผลให้ความเสียหายรุนแรงมากยิ่งขึ้น