2554-07-24

ศูนย์ภูมิอากาศชุมชน เพื่อเตรียมรับมือสภาพอากาศแปรปรวน

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลต่อการผลิตทางการเกษตรและผลกระทบที่ว่าหมายถึงความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงอยู่ หากจะเพิกเฉยกับเรื่องนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ที่กระทบไปทั่ว

การปรับตัวในด้านการเกษตรเพื่อรับมือจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้เริ่มต้นไปแล้วในบางประเทศและได้มีการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อเหมาะสมกับสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สามารถทำการผลิตได้ ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับความรุนแรงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในเวลานี้
นอกจากการปรับตัวไปในแนวทางใหม่แล้ว การเฝ้าสังเกตการณ์สภาพอากาศจึงเป็นอีกหนทางในการรับมือในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง เราจำเป็นที่จะต้องใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เพราะมันหมายถึงอนาคตของเรา
 
ความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนที่เกษตรกรจะต้องเผชิญและมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับรู้หรือสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในพื้นที่ก่อนทำการเพาะปลูก ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตให้เหมาะสมและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ที่ผ่านมา ความเสียหายของผลผลิตที่เกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้เกษตรกรเกิดความเป็นอยู่ที่ขัดสนและเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการดำรงชีพที่พึ่งพาและอาศัยอยู่กับระบบเกษตรเพียงอย่างเดียว และแม้ว่าในประเทศไทยจะมีหน่วยงานอย่างกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ข้อมูลคาดการณ์หรือพยากรณ์ลักษณะอากาศรายวันในแต่ละภูมิภาคอยู่แล้ว รวมถึงการคาดการณ์ถึงความแปรปรวนที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงต่างๆ และระบุถึงพื้นที่เสี่ยงภัยได้ แต่ข้อมูลที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงความแม่นยำสำหรับการวางแผนเพื่อการเพาะปลูกได้ เนื่องด้วยสถานีตรวจวัดอากาศที่มีอยู่เพียงจังหวัดละ 1-2 แห่งเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม้แต่ภายในจังหวัดเดียวกัน สภาพอากาศอาจจะมีความแตกต่างกันได้มาก ดังนั้นข้อมูลที่มีอยู่จากสถานตรวจวัดที่มีเพียงไม่กี่แห่งในแต่ละจังหวัดจึงไม่เพียงพอและเหมาะสำหรับเป็นข้อมูลที่จะนำไปใช้วางแผนการผลิตของเกษตรกรได้
ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันนี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการประสบการณ์ที่ใช้ในการคาดการณ์สภาพอากาศก็ไม่สามารถใช้การได้เหมือนเดิม ยิ่งซ้ำเติมให้เกษตรกรไม่สามารถคาดการณ์หรือวางแผนการผลิตการเพาะปลูกได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ศูนย์พยากรณ์หรือศูนย์ภูมิอากาศชุมชนจึงมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้นภายใต้สภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในพื้นที่ระดับชุมชน จะทำให้การคาดการณ์มีความแม่นยำและให้รายละเอียดได้มากกว่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการเพาะปลูกของเกษตรในพื้นที่ และลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศได้
การจัดตั้งโครงการศูนย์ภูมิอากาศระดับชุมชน เพื่อนำความรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบครบวงจรจากส่วนกลางเข้าสู่ชุมชน โดยจะเป็นการบูรณาการข้อมูลด้านอุทกศาสตร์และธรณีวิทยาในพื้นที่เข้าด้วยกัน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถวางแผนทำการเกษตรได้ง่ายขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติต่างๆ โดยจะมีการบูรณาการข้อมูลจาก 3 ส่วนด้วยกัน คือ
1. สภาพอากาศจากภายนอก (ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานระดับต่างๆ)
2. องค์ความรู้ของคนในพื้นที่
3. การรับมือกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี โดยจะมีพื้นที่จังหวัดนำร่องที่จังหวัดยโสธร และเชียงใหม่ โดยความร่วมมือของ ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (CCKM) ร่วมกับกลุ่มสหภาพยุโรป(EU), ออกแฟม(Oxfam), มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, มูลนิธิสายใยแผ่นดิน(Earth Net Foundation)
โครงการนี้ศูนย์ภูมิอากาศระดับชุมชนได้เริ่มต้นและดำเนินการอยู่โดยให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบันทึกสภาพอากาศรายวัน เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์และประเมินสภาพอากาศที่เกิดขึ้นว่ามีแนวโน้มเช่นไร และกระบวนการทำงานทั้งหมดจะนำไปสู่ทำงานร่วมกันของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันประเมินความเสียงในการทำการผลิตของเกษตรกรในอนาคต
นี่คือ แนวทางหนึ่งในการประเมินความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การรับมือและการปรับตัวในอนาคตจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ข้อมูล ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (CCKM)
         เกษตรยั่งยืน ความหวังสร้างโลกเย็น (พลิกวิกฤตโลกร้อน ด้วยวิถีเกษตรกรรมที่ยั่งยืน) 2553.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น