2554-08-11

ปัญหาเมือง...เมื่อเสี่ยงต่อฝน เปราะบางในฤดูฝน

รูปแบบเมืองเป็นส่วนหนึ่งของสะท้อนถึงสิ่งเกิดขึ้นในอนาคต ผังเมืองจะเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหาและส่วนที่สร้างปัญหา นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ สภาพอากาศที่แปรปรวน ไม่ว่าจะร้อน ฝน พายุ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนเมืองอย่างมาก การเตรียมรับมือทางโครงสร้างทางสาธารณูปโภคทุกอย่างภายในเมืองจึงเป็นเรื่องจำเป็นในอนาคต วันนี้สภาพอากาศที่ไม่เหมือนเดิม โครงสร้างผังเมืองที่เป็นปัญหา ล้วนทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ความหนาแน่นของประชากร และจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อการดำรงชีพและเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคบางชนิด
โครงสร้างคร่าวๆนี้สะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของเมืองอย่างเห็นได้ชัด และชี้ให้เห็นถึงปัญหาอีกมากมายที่น่าจะเกิดขึ้น หนึ่งตัวอย่างเช่น ประเด็นของความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่เกี่ยวโยงกับสุขอนามัย โดยเฉพาะเรื่องของโรคระบาดที่จะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพื้นที่เสี่ยงที่สุดก็คือ บริเวณใจกลางเมืองและพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา
จากผลรายงานทางสาธารณสุขได้ระบุให้เห็นว่า การระบาดของโรคท้องร่วงเฉียบพลันเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญทั่วประเทศ รวมถึงบริเวณเขตเมืองชายฝั่งภาคกลางด้วยเช่นกัน โดยพบว่า ค่าเฉลี่ยอัตราการป่วยแตกต่างไปตามกลุ่มอายุและพื้นที่ ซึ่งบริเวณเขตเมืองชายฝั่งภาคกลางเป็นโรคที่มีอัตราการระบาดมากที่สุดติดต่อกันมานานหลายปี เนื่องจากเขตเมืองชายฝั่งภาคกลางมีความเสี่ยงต่อฝน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ดี  เขตเมืองชายฝั่งภาคกลางจึงมีความเสี่ยงในฤดูฝนที่อัตราการป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคโดยอาศัยน้ำเป็นสื่อ
นอกจากนี้ปัญหาการเกิดน้ำท่วมบริเวณเขตเมืองชายฝั่งภาคกลางในฤดูฝน เนื่องมาจากระดับความสูง/ต่ำของพื้นที่รวมกับการทรุดตัวของแผ่นดินแล้ว ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนที่เพิ่มขึ้นร่วมกับอิทธิพลจากการหนุนของน้ำทะเล รวมไปถึงวิธีจัดการน้ำหลากของจังหวัดที่อยู่เหนือขึ้นไป สิ่งปกคลุมดินที่ส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตหรือวัสดุอื่นๆ ซึ่งน้ำไม่สามารถซึมผ่านสู่ใต้ดินได้ เป็นต้น ซึ่งการเกิดน้ำท่วมหรือน้ำนองทั้งจากฝนและปริมาณน้ำล้นคันกั้นน้ำตามคูคลองหรือแม่น้ำทำให้เชื้อก่อโรคท้องร่วงตามกองขยะและท่อระบายน้ำมีโอกาสไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำอื่นๆ และอาหารมากขึ้น ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจะรุนแรงมากหรือน้อย ลักษณะรูปแบบการสร้างผังเมืองคือ ตัวชี้วัด
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอ่อนไหวหรือปัจจัยภายในมีอิทธิพลมากกว่าปัจจัยทางภูมิอากาศ นั่นก็คือ พฤติกรรมการบริโภค การจัดการขยะและน้ำทิ้งจากบ้านเรือน รวมทั้งพื้นที่น้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยดังที่กล่าวมาก็คือความเสี่ยงที่เป็นสำเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
ฝน อุณหภูมิและเชื้อโรค
เมื่ออุณหภูมิสูงและฝนตกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลักษณะอากาศเช่นนี้ล้วนต่างเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งมาจากการชะล้างของน้ำจากแหล่งกำเนิดสู่พื้นที่อื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับสถิติอัตราการป่วยที่เพิ่มขึ้น
เมื่ออุณหภูมิและฝนลดลงต่อเนื่อง รวมถึงมีการถ่ายเทอากาศที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะอากาศที่จำกัดทั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคและการแพร่กระจายของเชื้อโรค จึงทำให้สถิติอัตราการป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง
สรุปได้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นในฤดูร้อนทำให้เกิดการป่วยด้วยโรคท้องร่วงเฉียบพลันเพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวร้อยละ 12.1 และเพิ่มถึงร้อยละ 43.9 ในฤดูฝน (จากอิทธิพลของฝนร่วมกับอุณหภูมิ)  
จากสถิติจำนวนการป่วยในเขตเมืองชายฝั่งภาคกลางระหว่าง พ.ศ.2547-2553 เมื่อนำมาคำนวณอัตราการป่วยเฉลี่ยโดยจำแนกรายเดือน พบว่ามีสถานการณ์การระบาดของโรคท้องร่วงเฉียบพลัน ดังนี้
           เดือนธันวาคม - มกราคม : อัตราการป่วยเดือนธันวาคมที่ 205 (ต่อประชากรแสนราย) เพิ่มขึ้นเป็น 390 ราย (+185) ในเดือนมกราคม 
           เดือนมกราคม - เมษายน : อัตราการป่วยเดือนมกราคมที่  390 (ต่อประชากรแสนราย) ลดลงต่อเนื่องถึงเดือนเมษายนที่ 230 ราย(-160)
           เดือนเมษายน - สิงหาคม : อัตราการป่วยเดือนเมษายนที่ 230 (ต่อประชากรแสนราย) เพิ่มขึ้นเป็น 295 ราย (+65) 
           เดือนสิงหาคม - ธันวาคม : อัตราการป่วยเดือนสิงหาคมที่ 295 (ต่อประชากรแสนราย) ลดลงต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายนที่ 205 ราย (-90)
จากการดำเนินงานโดยแผนงานด้านการสาธารณสุข การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการระบายน้ำและการบำบัดน้ำเสีย ในปี พ.ศ.2553 มีมูลค่าการสูญเสียขั้นต่ำประมาณ 186.97 ล้านบาท
การคำนวณงบประมาณขั้นต่ำ ในสถานการณ์อัตราการป่วย 205/0.1 ล้านราย โดยไม่มีอิทธิพลจากอุณหภูมิและการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรค จากงบประมาณของแผนด้านการสาธารณสุข โดยอาศัยความสัมพันธ์เชิงเรขาคณิต ได้เท่ากับ 63.010 ล้านบาท
พื้นที่ความเปราะบางสูง
แม้ว่าจะมีความสามารถในการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่จะเห็นว่าไม่มีความสามารถในการรับมือความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ซึ่งทำให้ผู้ได้รับผลกระทบยังต้องเกิดความสูญเสียต่อไปเช่นเดิม ความเปราะบางมีความแตกต่างกันเชิงพื้นที่  ดังนี้
            1.เขตเมืองในจังหวัดปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ  : มีความเปราะบางต่ำ โดยพิจารณาจากอัตราการป่วยที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ สาเหตุสำคัญคาดว่ามาจากความหนาแน่นของประชากรต่ำกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีผลต่อจำนวนขยะและน้ำเสียตามท่อระบายน้ำที่น้อยกว่า โดยมีศักยภาพของกลไกการรับมือไม่แตกต่างไปจากในเขตกรุงเทพฯ 
            2.กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก : มีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะบริเวณใจกลางเมืองและริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยคาดว่ามาจากความเป็นชุมชนหนาแน่นร่วมกับมีปัญหาแผ่นดินทรุดตัวมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งทำให้ปัจจัยอ่อนไหวทุกด้านมาก สำหรับพื้นที่ห่างจากใจกลางเมือง เช่น เขตประเวศต่อเนื่องไปถึงเขตลาดกระบัง พบว่าเป็นที่ว่างรกร้างกระจายอยู่มากและเป็นที่ลุ่มต่ำ(หนองน้ำ) เช่นเดียวกับทางตอนบน เช่น เขตดอนเมือง หลักสี่ สายไหม ซึ่งทำให้เกิดน้ำขังเวลาฝนตกและน้ำท่วมมากกว่าพื้นที่อื่นๆ กลายเป็นแหล่งน้ำเน่าเสียและแหล่งเชื้อก่อโรค โดยมีโอกาสแพร่กระจายไปพื้นที่รอบข้างเวลาฝนตกหรือน้ำท่วม
            3.กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก : มีความเปราะบางสูงบริเวณริมแม่น้ำ เช่น เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย โดยมีสภาพเดียวกับบริเวณใจกลางเมืองของฝั่งตะวันออก  สำหรับพื้นที่ห่างออกมาทางชั้นนอก เช่น เขตจอมทอง เขตทุ่งครุ จะมีความเปราะบางต่ำกว่าเนื่องจากมีชุมชนเบาบางกว่า ซึ่งเป็นสภาพใกล้เคียงกับเขตเมืองของจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีที่ว่างรกร้างในลักษณะเดียวกับเขตประเวศ ซึ่งมีผลต่อจำนวนแหล่งกำเนิดเชื้อก่อโรคและการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคในเวลาฝนตกหรือน้ำท่วม  ดังนั้น แม้ว่าจะมีความเปราะบางต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ ในเขตกรุงเทพฯ แต่ก็ถือว่ามีความเปราะบางสูงกว่าเขตเมืองของทั้ง 3 จังหวัดที่กล่าวมา
วันนี้กลไกรับมือพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือ ความตระหนักด้านสุขอนามัย สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และผลกระทบซึ่งในระดับบุคคล ครัวเรือน องค์กร และเมืองนั้น จากการสังเกตสภาพความเป็นอยู่ในแต่ละพื้นที่ของเขตเมือง ชายฝั่งภาคกลาง
แม้จะว่าผลกระทบในทางเศรษฐกิจนั้น เขตเมืองชายฝั่งภาคกลางยังมีความสามารถรับมือได้  แต่ทว่าความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยพบว่า ขีดความสามารถของกลไกรับมือยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสาเหตุสำคัญคือ ผู้ที่ตระหนักความสำคัญในเรื่องที่เกี่ยวข้องมีน้อยมาก    
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการระบาดของโรคท้องร่วงเฉียบพลันจะยังไม่เป็นสิ่งที่น่าวิตกว่าเป็นปัญหาระดับเมือง  เพราะต่างมองว่าเป็นปัญหาระดับบุคคลและไม่อันตรายร้ายแรงนัก แต่เราก็พบว่า การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสภาพอากาศ รูปแบบเมืองและวิถีชีวิตของคนที่ล้วนสัมพันธ์กัน
สิ่งเล็กน้อยจากปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาทั้งหมดจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางสุขภาพที่เรามองข้ามและยังสะท้อนให้เห็นถึงความน่ากลัวของการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และนี่ก็เป็นเพียงหนึ่งเชื้อโรคที่เรากล่าวถึง เพื่อให้เห็นถึงโครงสร้างเมือง สภาพอากาศ และมนุษย์ ที่จะต้องเผชิญในความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่กระทบต่อกันเป็นลูกโซ่
แต่หากวันใดเกิดโรคระบาดที่มีความรุนแรง เราก็จะเห็นถึงภัยเงียบอันน่ากลัวที่มาจากปัจจัยต่างๆ ที่เรานำมากล่าวถึง....เมือง ประชากร และอากาศ
ที่มา: บางส่วนจากรายงาน การวิเคราะห์ความเสี่ยงและความเปราะบางของเขตเมืองต่อภูมิอากาศ
ศึกษาเฉพาะ เขตเมืองชายฝั่งภาคกลาง (นายนพรัตน์ กายเพชร)
ภายใต้โครงการ การศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ลักษณะพื้นที่ภาคกลางที่เป็นศูนย์กลางและเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง ประกอบด้วยพื้นที่บริเวณเขตเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งถูกกำหนดโดยแนวทางพัฒนาเมืองในฐานะเมืองหลวงกับการมีจำนวนประชากรอยู่อาศัยมาก และพื้นที่บริเวณโดยรอบอย่างจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานีถูกพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม ส่วนจังหวัดนนทบุรีจะเน้นพัฒนาเป็นเมืองธุรกิจและที่อยู่อาศัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น