2554-11-18

หนึ่งโรคแพร่เชื้อโรค เมื่อน้ำท่วม

ในอนาคตปริมาณฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3% จากฝนที่มากขึ้นย่อมส่งให้เกิดน้ำท่วมและน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมืองที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
เชื้อโรคจำนวนมหาศาลจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากอุณหภูมิที่เหมาะสมและจากพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะในแหล่งชุมชนที่หนาแน่นไปด้วยประชากร เราจะยกตัวอย่างหนึ่งของเชื้อโรคและโรคท้องร่วงเป็นแนวทางการศึกษาในพื้นที่เขตเมืองชายฝั่งภาคกลาง ข้อมูลได้ชี้ให้เราเห็นแนวโน้มสถานการณ์โรคท้องร่วงระบาดและผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม

ปัจจุบันเขตเมืองชายฝั่งภาคกลางมีปัญหาการระบาดของโรคท้องร่วงแบบเฉียบพลันที่มีอัตราการป่วยสูงและเป็นระยะเวลาต่อเนื่องในฤดูฝน คาดว่ามีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในน้ำ ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นยิ่งทำให้เกิดปัญหาด้านขยะ แหล่งน้ำเน่าเสีย โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนแออัดหรือสลัม ซึ่งจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโรคอย่างรวดเร็ว
จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นสำหรับค่าเฉลี่ยต้นทุนบริการสุขภาพในอัตรา 17,825.77 บาท/คน  คาดว่าจะมีกลุ่มเสี่ยงเจ็บป่วยประมาณ 263,500 ราย/ปี ต้นทุนบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นเป็น 4,697 ล้านบาท/ปี(คิดอัตราป่วยเฉลี่ย 500/ ประชากรแสนราย) รวมทั้งผลกระทบเรื่องความขัดแย้งและข้อพิพาทในเรื่องการใช้ที่ดิน ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ที่เกิดจากการว่างงานและค่าครองชีพสูง ปัญหาการระบาดของโรคท้องร่วงแบบเฉียบพลันมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่องบประมาณในการดำเนินงานด้านบริการสุขภาพขั้นต่ำรวม 40 ปีประมาณ 100,400 ล้านบาท ( คิดจากมูลค่าคงที่ของปีปัจจุบันปีละ 2,510 ล้านบาท)
นี่เป็นเพียงการประเมินผลกระทบเพียงหนึ่งเชื้อโรค หากการระบาดเกิดขึ้นรุนแรงมากเท่าไหร่ ความเสียหายย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นปัญหาน้ำท่วมขังยาวนานจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคต่างๆ มากมาย คงไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งเชื้อโรค แต่จะมากกว่าและรุนแรงแตกต่างกัน ขณะเดียวกันแหล่งชุมชนแออัดจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ด้วยการลดความเสี่ยงต่างๆที่จะนำไปสู่การแพร่เชื้อโรค ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากและจะช่วยลดความรุนแรงลงได้
สิ่งที่ควรตระหนักถึงคือ ปัญหาด้านขยะ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานานในเมือง หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง คาดว่า ชุมชนเมืองในเขตกรุงเทพมหานครจะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบต่อชุมชนและสังคมอย่างชัดเจน ทั้งมาตรการในระยะสั้นและในระยะยาว
นอกจากนี้แนวทางการแก้ไขปัญหานี้จะต้องสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ สร้างความตระหนัก และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนและภาคส่วนอื่นๆ ในการติดตามและรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนใส่ใจและลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ชุมชนแต่ละแห่งจะมีส่วนสำคัญในการระงับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ส่วนปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจำเป็นจะต้องแนวทางระบายน้ำที่เกิดประสิทธิมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นการร่วมมือป้องกันทั้งในส่วนของภาครัฐและชุมชนที่จะต้องปฏิบัติตามแนวทางการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
อนาคตอันใกล้จะเกิดอะไรขึ้นอีกมากมายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั้งจากที่เรารู้และไม่รู้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยธรรมชาติในระดับพื้นที่ก็จำเป็นจะต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์รองรับภัยพิบัติระยะยาว ส่งเสริมและเร่งรัดการเตือนภัย การเตรียมความพร้อมในการรับมือความแปรปรวนในปัจจุบัน และเพื่อให้เป็นฐานกับการรับมือความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวจะต้องมีการสร้างกลไกส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลระดับชุมชน ท้องถิ่น  เพิ่มขีดความสามารถในระดับชุมชนให้เข้มแข็งพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติต่างๆ
โรคระบาดเป็นเพียงหนึ่งผลกระทบจากหลายๆ ปัญหา และเราคงจะต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง
ข้อมูลอ้างอิงจาก นพรัตน์ กายเพชร จากรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความเปราะบางของเขตเมืองต่อภูมิอากาศ
ศึกษาเฉพาะ เขตเมืองชายฝั่งภาคกลาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น