2554-08-22

มรสุมสายฝน ฤดูกาลน้ำหลาก กับพื้นที่ทางเหนือ

มรสุมสายฝน ฤดูกาลน้ำหลาก กับพื้นที่ทางเหนือ
เมื่อฝนตกหนัก.. น้ำป่าไหลหลากทะลักเข้าบ้านเรือนชุมชนและที่ดินเกษตรกรรม ความเสียหายเป็นวงกว้าง นี่เป็นเพียงถ้อยประโยคที่เราได้ยินเสมอ ในวันนี้ปริมาณน้ำฝนได้สร้างความทุกข์ร้อนรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยเสี่ยงในปัจจุบันชี้ให้เราเตรียมพร้อมเพื่อรับมือในอนาคต
ภูมิประเทศเป็นภูสูงและที่ราบลุ่มคือลักษณะของภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง ซึ่งเชื่อมโยงถึงกันผ่านเส้นทางน้ำ โดยมีน้ำเป็นสิ่งที่มีปัจจัยเสี่ยงมากที่สุด ประกอบกับลักษณะสภาพอากาศที่ปรวนแปรในแต่ละครั้งย่อมส่งผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ต้นน้ำสายต่างๆ จำนวนมากจะกลายจุดเดินทางของเส้นทางน้ำท่วมจากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติ
ขณะเดียวกันแม้จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำหลายแหล่ง แต่ยังมีความต้องการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง  เนื่องจากปริมาณฝนลดลง และน้ำท่วมในฤดูฝน  รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งในการจัดสรรน้ำ  แม้ว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำจะมีปริมาณมาก  แต่เมื่อเทียบกับความต้องการในอนาคต (อย่างไม่จำกัด) จำต้องพัฒนาทรัพยากรน้ำ  รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในฤดูน้ำหลาก
จากลักษณะทางภูมิประเทศดังที่กล่าวมาประกอบกับสภาพลักษณะอากาศภาคเหนือยังอยู่ในเขตมรสุม 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝนนับตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ตุลาคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลงมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ และฤดูหนาวเย็นจากเดือนพฤศจิกายน กุมภาพันธ์จะได้รับอิทธิพลจากลมตอนกลางเอเชียพัดผ่านจากลมตะวันออกเฉียงเหนือ และฤดูร้อนจากเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม ได้รับอิทธิพลจากลมมรุสมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งลมและฝนเกิดขึ้นตลอดทั้งปี
ดังนั้นจากลักษณะทางกายภาพและจากสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือชี้ให้เห็นว่าพื้นที่เช่นนี้ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลากในช่วงมรสุมที่จะส่งผลให้ฝนตกหนัก ซึ่งจะทำให้พื้นที่ภาคเหนือเกิดภัยทางธรรมชาติอย่างง่ายดายและจะรุนแรงตามความปรวนแปรของอากาศ โดยเฉพาะพื้นทางการเกษตรกรรมที่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งชุมชนเกือบทั้งหมดทำการเกษตรกรรม
ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรสามารถแข่งขันด้านการผลิตและตลาดกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ ได้แก่  ข้าว  ข้าวโพด  อ้อย ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ลำไย ลิ้นจี่และผลไม้เหมืองเหนือ ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและที่ราบสูงตอนบนเชียงใหม่และเชียงราย
พื้นที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมชั้นดีเป็นแหล่งผลิตอาหาร  ได้แก่ กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดอุตรดิตถ์  สุโขทัย  พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์และอุทัยธานี  ส่วนการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรบนพื้นที่สูง พื้นที่ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้กับชุมชน และมีความสอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติแต่ละพื้นที่  เช่น การส่งเสริมการปลูกผัก และผลไม้เมืองหนาวตามพื้นที่ลาดชันของพื้นที่สูง และพื้นที่ดอน เพื่อป้องกันการทำลายหน้าดินของพื้นที่เกษตร พร้อมทั้งอนุรักษ์เพื่อการปลูกพืชบนพื้นที่สูง อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา น่าน พิษณุโลกและเพชรบูรณ์
สำหรับพื้นที่มีความเหมาะสมเกษตรกรรมอยู่บริเวณที่ราบของภาคเหนือตอนล่างและบริเวณที่ราบสูงและเนินเขาภาคเหนือตอนบน ปัจจุบันมีการนำพื้นที่เสื่อมโทรม พื้นที่ภูเขาและที่สูงมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมสูงขึ้น  
จากงานศึกษาในเชิงสถิติประยุกต์เพื่อวิเคราะห์แบบแผนภูมิอากาศยังมีการศึกษาผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ  ในภาพรวมของประเทศ ทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา เพื่อวิเคราะห์ทางเลือกการจัดการการผลิต และการใช้ที่ดิน โดยผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า
1) ความยืดหยุ่นการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของเกษตรกรเมื่อผลตอบแทนเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง  ตัวแปรภูมิอากาศมีผลต่อผลผลิตต่อไร่ของแต่พืชในลักษณะและขนาดที่ต่างกัน
1.1           ข้าว: อุณหภูมิกลางคืนเพิ่มขึ้น 1 องศาทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 0.31% แต่ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 26 องศาจะทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง
1.2           มันสำปะหลัง: ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น 100 มม. ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 0.2%  แต่หากปริมาณน้ำฝนมากกว่า  1263 มม. จะทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง (แต่ลดลงน้อยมาก)  ภัยแล้งที่รุนแรงเช่นปี 2537 และ 2548 ทำให้ผลผลิตลดลงประมาณ 13%
พื้นที่มีความเหมาะสมในการรองรับการพัฒนา มีพื้นที่ประมาณ 68,377 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 40 ของพื้นที่ภาคเหนือ โดยกระจายอยู่ในบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำทางตอนล่างของภาคเหนือต่อเนื่องกันเป็นบริเวณกว้างถึงภาคกลาง  ส่วนบริเวณภาคเหนือตอนบนพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและพื้นที่ป่าไม้ บางพื้นที่มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ
สำหรับประเด็นความเสี่ยงของภาคเกษตรล้วนแต่เป็นเรื่องของความแปรปรวนของสภาวะอากาศ และการระบาดของแมลงศัตรูพืชในนาข้าว เนื่องจาก ปัจจุบันมีการหมุนเวียนปลูกทั้งปีทำให้ปริมาณแมลงไม่ลดลงตามธรรมชาติ
สถานการณ์สภาพอากาศ ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขี้น
1)             สถานการณ์ภัยแล้ง ผลกระทบและความเสียหายในปี 2553 ภาคเหนือมีพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้งเสียหาย 1.3 ล้านไร่ ซึ่งได้รับความเสียหายมากกว่าภาคอื่น โดยคิดเป็นร้อยละ 74.2 ของพื้นที่เสียหายรวมทั้งประเทศ   และร้อยละ 4.7ของพื้นที่ทำการเกษตรภาคเหนือ จำแนกเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 0.6 ล้านไร่
      2) ดินถล่มน้ำป่าไหลหลาก เป็นปัญหารุนแรงเกิดขึ้นขยายวงกว้าง นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน   ในปี 2548 มีเหตุการณ์ดินสไลด์  ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,497 คนและน้ำท่วม 819,822 คนโดยรวมทั้งประเทศ
      3) หมอกควัน ไฟป่ารุนแรงและมีจำนวนเกิดขึ้นมากในปี 2550 ในเขตภาคเหนือเกิดไฟไหม้ป่าจำนวน 4,771 ครั้ง มีพื้นที่เสียหาย 54,580.3 ไร่ใช้งบประมรเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.5 และ 13 เท่าตัว (ข้อมูลเดือนตุลาคม2549-วันที่ 22 เมษายน 2550)เมื่อเทียบกับปี 2549 นอกจากนี้การเผ่าป่าในแถบประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมากนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้มีปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศของภาคเหนือตอนบนเพิ่มสูงขึ้น โดยภาพถ่ายดาวเทียมตรวจพบจุดความร้อน (Hotspot) ในภูมิภาคอินโดจีนเพิ่มขึ้นมากในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2550 โดยเฉพาะในสหภาพพม่ามากถึง 1,282 จุด ในวันที่ 8 มีนาคม 2550 (สรุปประชุมมติรัฐมนตรี 13 มีนาคม 2550)
ความเสียงจากภัยทางธรรมชาติวันนี้
จากแผนพัฒนาภาคเหนือ ได้กำหนดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาความเป็นเมือง
1)             พื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวได้แก่ พื้นที่บางส่วนของเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัยและกำแพงเพชร
2)             พื้นที่เสี่ยงต่อดินถล่มและอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอนและตาก
นี่เป็นเพียงภาพรวมของพื้นที่ภาคเหนือวันนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้ของจำกัดจากผลกระทบจากภัยทางธรรมชาติ และสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมพร้อมและรับมือ โดยการปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เราไม่อาจที่จะปฎิเสธผลกระทบที่เกิดขึ้นในวันนี้ได้ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ล้วนเป็นตัวกำหนดความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง
การผลิตทางด้านเกษตรกรรมล้วนต่างเอื้ออาศัยดินฟ้าอากาศกำหนดชะตาการดำรงชีพตามฤดูกาล เพียงแค่ฝนมากเกินกำหนดการรองรับน้ำมากของต้นน้ำมักจะส่งผลให้น้ำหลาก ไหลท่วมพื้นที่เกษตรกรรมเกือบทั้งหมด ดังนั้นความผิดปกติของสภาพอากาศเพียงครั้งเดียวก็ส่งผลกระทบมหาศาลเป็นพื้นที่บริเวณกว้างและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินที่เราคาดคิด
มีคำถามเกิดขึ้นว่า...ภาคเกษตรกรรมจะเป็นเช่นไร หากต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติในทุกปีและยากที่จะรับมือเช่นนี้ ...และอะไรจะเกิดขึ้นหากเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต
เรื่องโดย นุศจี ทวีวงศ์
ข้อมูลจากเอกสารการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความเปราะบางของเขตเมืองต่อภูมิอากาศศึกษาเฉพาะ ภูมิภาคเหนือ ประเทศไทย โดยสุมนมาน สิงหะ
ภาพจาก rakbankerd.com และ oknation.net
เนื่องด้วยลักษณะทางกายภาพภาคเหนือประกอบด้วยลุ่มน้ำหลักสำคัญ 9 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำสาละวิน น้ำโขงตอนบน กก ปิง วัง  ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก โดยที่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างกลายเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในภาคกลางเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำ เขื่อน อ่างเก็บน้ำและพรุน้ำจืดที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญเป็นจำนวนมาก  ด้วยเหตุนี้เองพื้นที่ที่มีน้ำเป็นเส้นทางเชื่อมโยงและหลากหลายเช่นนี้จึงทำให้การเกิดอุทกภัยเกือบทุกพื้นที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น