2554-02-21

บทสรุปภูมิอากาศในอนาคตที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ

ภูมิอากาศของประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2570
การคาดการณ์ภูมิอากาศของประเทศไทยตามแนวทางการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกแบบ A2 และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับโลกโดยใช้แบบจำลอง ECHAM4 พบว่าอุณหภูมิสูงสุดของประเทศในช่วง 20-30 ปีในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเกือบทั้งประเทศ โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้จะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือประมาณ 1-2 องศาเซลเซียสจากปัจจุบัน

สำหรับปริมาณฝนจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างค่อนข้างชัดเจนเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่น่าจะมีกำลังแรงขึ้นกว่าในปัจจุบัน ซึ่งใด้แก่ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและชายฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออกบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราด พื้นที่เหล่านี้ในปัจจุบันก็เป็นพื้นที่ที่มีฝนมากอยู่แล้ว ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น การเปลี่ยนแปลงของฝนอันเนื่องมาจากลมมรสุมจะมีทิศทางที่อาจจะลดลงเล็กน้อย  เนื่องจากการกระบวนการเกิดฝนเนื่องมาจากการยกตัวของมวลอากาศบริเวณชายฝั่งจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้ความชื้นในอากาศถูกสกัดออกมาจากมวลอากาศมากขึ้นและเหลือผ่านเข้าไปในแผ่นดินตอนในน้อยลง ซึ่งเมื่อประกอบกับจำนวนพายุหมุนเขตร้อนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จึงน่าที่จะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ห่างไกลจากทะเลของประเทศไทยมีปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดลง
ลมมรสุมที่มีกำลังแรงขึ้นจะทำให้ระดับน้ำบริเวณชายฝั่งมีความแปรปรวนตามฤดูกาลเพิ่มมากขึ้นกว่าการเพิ่มของระดับน้ำทะเลเฉลี่ย เนื่องมาจากปริมาตรน้ำในมหาสมุทรโลกแต่เพียงลำพัง ดังนั้นผลกระทบจากระดับน้ำทะเลในช่วงที่ลมมรสุมพัดเข้าหาชายฝั่งจึงจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่งและการรุกของน้ำเค็มเข้าไปในแหล่งน้ำจืดบริเวณชายฝั่ง
ผลกระทบต่อภาคส่วนทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม
ทรัพยากรน้ำ (คุณภาพและปริมาณ)
ลมมรสุมโดยเฉพาะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้นในอนาคตจะส่งผลให้พื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงได้แก่พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและบางส่วนของจังหวัดจันทบุรีและตราด มีปริมาณฝนรวมเพิ่มมากขึ้นประมาณ 10-15% อย่างไรก็ตามพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศที่ห่างไกลจากทะเลโดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนของภาคกลาง และพื้นที่เงาฝนบริเวณภาคใต้ตอนบน จะไม่ได้รับอานิสงค์จากการเพิ่มขึ้นของลมมรสุม แต่กลับจะมีการลดลงของฝนตามฤดูกาลอีกด้วย นอกจากนี้พายุหมุนเขตร้อนโดยเฉพาะพายุดีเปรสชั่นซึ่งเคยเป็นแหล่งของน้ำที่สำคัญสำหรับพื้นที่ตอนในของประเทศโดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูฝนน่าจะมีจำนวนลดลง ประกอบกับอุณหภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นจะเร่งการระเหยและการคายน้ำโดยพืชต่างๆ ดังนั้นปริมาณน้ำคงเหลือสุทธิจึงอาจที่จะลดลงกว่าในปัจจุบันได้ถึงกว่า 10% ในบางพื้นที่
การใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกยังน่าที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อปริมาณน้ำในลุ่มน้ำ  ซึ่งรวมถึงการเพิ่มขึ้นของพืชพลังงานที่ต้องการน้ำมากบางชนิดเพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล เช่นปาล์มน้ำมัน อาจจะส่งผลต่อปริมาณน้ำในบริเวณท้ายน้ำในลุ่มน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้
ปริมาณน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อคุณภาพน้ำในลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือบริเวณที่มีปริมาณฝนมากขึ้นอาจจะน้ำไปสู่การกัดเซาะชะล้างหน้าดินมากขึ้นจึงจะทำให้ปริมาณตะกอนแขวนลอยเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ลุ่มน้ำที่มีปริมาณน้ำลดลงจะทำให้การเจือจางสารมลพิษเกิดได้น้อยกว่าในปัจจุบัน ดังนั้นคุณภาพของน้ำในรูปของสารละลายรวมทั้งออกซิเจนละลายเป็นต้นอาจจะมีคุณภาพลดลงได้ 
แหล่งน้ำชายฝั่งทะเลทั้งแหล่งน้ำผิวดินและชั้นน้ำตื้นบริเวณชายหาดอาจจะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของน้ำเค็มมากขึ้นเนื่องจากการรุกของน้ำทะเลที่มากขึ้นและการลดลงของปริมาณน้ำจืดจากต้นน้ำเพื่อการผลักดันน้ำเค็ม พื้นที่เหล่านี้รวมถีงแหล่งน้ำดิบเพื่อการทำน้ำประปาของกรุงเทพมหานครและเมืองชายทะเลต่างๆ และบ่อน้ำตื้นซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักของชุมชนชายฝั่งทะเลจำนวนมากของประเทศ
การเกษตร
          ปริมาณน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปจะกระทบต่อการเพาะปลูกโดยตรงโดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน อย่างไรก็ตามอุณหภูมิอากาศและปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นก็อาจจะเป็นผลดีต่อพืชบางสายพันธ์ ในขณะเดียวกันปริมาณแสงที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละพื้นที่เนื่องมาจากปริมาณเมฆและละอองในชั้นบรรยากาศที่แปรปรวนมากกว่าเดิมก็อาจจะทำให้การสังเคราะห์แสงและผลผลิตของพืชที่มีความไวต่อแสง เช่นข้าว เปลี่ยนแปลงไปด้วย
          นอกจากผลกระทบโดยตรงต่อพืชแล้ว การเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยและความแปรปรวนของอุณหภูมิและปริมาณฝนยังอาจจะกระทบต่อจุลินทรีย์ในดินซึ่งมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์เพื่อหมุนเวียนธาตุอาหารเช่นไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโปแตสเซี่ยมกลับมาให้พืชได้ใช้ใหม่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศประกอบกับการจัดการดินที่ไม่เหมาะสมอาจจะส่งผลต่อกำลังผลิตของพื้นที่การเกษตรได้ในวงกว้าง
          อุณหภูมิที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอุณหภูมิในช่วงกลางคืนและความชื้นในอากาศที่ลดลงอาจะส่งผลต่อผลผลิตของพืชเศรษฐกิจเช่นข้าวและพืชเมืองหนาวบนเขตที่สูงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย
ภัยพิบัติ
          ลมมรสุมที่มีกำลังแรงขึ้นจะทำให้ความเสี่ยงของการเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะน้ำท่วมขังเนื่องจากปริมาณน้ำมากเกินกว่าศักยภาพการระบายในพื้นที่ลุ่มของประเทศ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเนื่องมาจากลมประจำฤดูกาลมากกว่าสาเหตุจากระดับน้ำทะเลโลก จะทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลมีความซับซ้อนมากขึ้น
          น้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในพื้นที่เขาต่างๆ ในอนาคตยังคงมีความเสี่ยงใกล้เคียงกับในอดีต เพราะถึงแม้ว่าจำนวนพายุหมุนเขตร้อนโดยรวมจะมีประมาณลดลงในปัจจุบัน แต่ประเภทหลักของพายุที่ลดลงคือพายุดีเปรสชันที่มีกำลังน้อย ในขณะที่พายุไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนซึ่งเป็นพายุที่มีกำลังแรงยังคงมีปริมาณใกล้เคียงกับในอดีต
          ความเสี่ยงจากน้ำทะเลหนุนสูงเนื่องจากพายุในบริเวณชายฝั่งทะเลน่าที่ยังใกล้เคียงหรือน้อยกว่าในอดีตสำหรับพื้นที่ชายทะเลส่วนใหญ่ของประเทศ ยกเว้นบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงสุราษฎร์ธานีที่อาจจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นบ้างของพายุหมุนเขตร้อนขนาดใหญ่
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและผลต่อชายฝั่งทะเล
          การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั้งแบบถาวรเนื่องมาจากการขยายตัวของน้ำในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นและการละลายของธารน้ำแข็งถาวรต่างๆ จะส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อชายฝั่งทะเลไทยในภาพรวม แต่ถ้าพิจารณาในมุมมองระดับท้องถิ่น ประเด็นสำคัญจะเป็นการเร่งอัตราการกัดเซาะชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีความลาดชันต่ำเช่นบริเวณป่าชายเลนและหาดโคลนใกล้ปากแม่น้ำซึ่งเสถียรภาพของชายหาดมีความอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมากกว่าชายหาดที่มีความลาดชันสูงกว่าเช่นหาดทรายและหาดหิน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างถาวรเพียง 5-10 เซนติเมตร จะทำให้หาดเลนและหาดโคลนถูกกัดเซาะได้ลึกถึงกว่า 10 เมตรในแนวราบ ในขณะที่จะทำให้เกิดการกัดเซาะเพียง 1-2 เมตร สำหรับหาดทรายที่มีความลาดชันสูงกว่า
ประเด็นด้านเสถียรภาพของชายฝั่งทะเลจึงเป็นเรื่องของความแปรปรวนทางระบบลมมรสุมตามฤดูกาลที่มีคาบค่อนข้างแน่นอนและจากพายุหมุนเขตร้อนที่ไม่มีคาบที่แน่นอน ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยได้หลายสิบเซนติเมตรถึงมากกว่า 1 เมตร ซึ่งจะหนุนให้น้ำทะเลท่วมลึกเข้าไปในแผ่นดินและเส้นทางน้ำต่างๆได้เป็นระยะทางไกลและทำให้เสถียรภาพของแนวชายฝั่งลดลง แต่จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และนอกจากระดับน้ำแล้วลมมรสุมและพายุที่มีกำลังแรงยังทำให้เกิดดลื่นขนาดใหญ่อันจะทำให้กระบวนการพัดพาตะกอนตามแนวชายฝั่งรุนแรงขึ้นและเร่งให้การกัดเซาะได้หลายสิบเมตรในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งในอดีตนั้นการกัดเซาะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศจะสามารถถูกฟื้นฟูด้วยตะกอนที่จะไหลมาชดเชยตามธรรมชาติในระยะยาว แต่เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจึงทำให้การชดเชยดังกล่าวไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็นและอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งอย่างถาวร
นิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ
          ปริมาณฝนจากมรสุมที่ลดลงในบางพื้นที่ประกอบกับช่วงฤดูแล้งที่ยาวขึ้นจะช่วยเอื้อให้การเผาไหม้ป่าและพื้นที่เกษตรกรรมรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลทั้งในเชิงบวกกับสัตว์และพืชบางประเภท เช่นสิ่งมีชีวิตที่มีวงจรชีวิตสั้นพวกเห็ดรา หญ้า วัชชพืชและแมลงบางชนิด  ในขณะเดียวกันก็อาจจะกระทบต่อพืชและสัตว์ที่มีวงรอบการสืบพันธ์ยาวหรือมีความสามารถในการทนต่อไฟได้น้อย
          การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความชื้นในอากาศยังอาจจะกระทบต่อระบบนิเวศที่มีความเฉพาะตัวสูง เช่นป่าน้ำค้างและป่าดิบชื้นที่ปัจจุบันเกือบทั้งหมดของประเทศก็อยู่ในภาวะใกล้วิกฤติอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเพียงเล็กน้อยก็อาจจะทำให้ระบบนิเวศเหล่านั้นเสียหายอย่างถาวรได้
พื้นที่ชุ่มน้ำทั้งที่เป็นระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำกร่อยในลุ่มน้ำและปากแม่น้ำต่างๆ เป็นแหล่งเพาะและอนุบาลพันธ์พืชและสัตว์น้ำที่สำคัญ จำเป็นจะต้องได้รับน้ำในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำจืดที่มากหรือน้อยเกินไป หรือมีระยะเวลาที่ต่างไปจากเดิมอาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตทางนิเวศ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงและอ่อนไหวต่อผลกระทบข้ามพรมแดนจากส่วนอื่นๆ ของลุ่มน้ำนานาชาติแห่งนี้อีกด้วย 
ความเป็นกรดของแหล่งน้ำเนื่องมาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้นในบรรยากาศจะส่งส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน้ำจืดได้เร็วกว่าระบบนิเวศทางทะเลเนื่องจากน้ำทะเลมีขีดความสามรถในการสะเทินกรดได้ดีกว่าน้ำจืดมาก โดยถ้าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพิ่มถึงระดับประมาณ 600 ส่วนในล้านส่วน จะทำให้เปลือกหอยน้ำจืดบางชนิดละลายน้ำได้และจะส่งผลต่อความอยู่รอดของหอยเหล่านั้นอย่างรุนแรง ซึ่งประเทศไทยมีหอยน้ำจืดที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามอยู่แล้วหลายชนิด ดังนั้นความเป็นกรดจะยิ่งทำให้หอยเหล่านั้นเสี่ยงต่อการสูญพันธ์มากขึ้น
ถึงแม้ว่าสัตว์และพืชทะเลส่วนมากจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเป็นกรดของน้ำแต่การที่ภาวะเอลนิโญมีความถี่มากขึ้นในปัจจุบันเมื่อเทียบกับอดีตจึงทำให้การเกิดปะการังฟอกขาวเพิ่มสูงมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นประเด็นทางความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศวิทยาที่ต้องให้ความสำคัญถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังไม่สามารถพิสูจน์ความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างปรากฏการณ์เอลนิโญกับภาวะโลกร้อนก็ตาม
สุขภาพอนามัย (โดยตรงและโดยอ้อม)
          พาหะของโรคหลายชนิด เช่นยุงและหนู สามารถขยายพันธ์ได้ดีขึ้นเมื่ออากาศอุ่นขึ้นและเชื่อว่าอาจจะทำให้โรคเช่น มาเลเรีย ไข้เลือดออกและฉี่หนู มีการระบาดได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีเท่าที่ผ่านมายังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าการระบาดของโรคสามารถเชื่อมโยงได้โดยตรงการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของโรคเช่นไข้เลือดออกกับปรากฎการณ์เอลนิโญที่พบได้อย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเซียตะวันอกเฉียงใต้ ก็ทำให้มีการเฝ้าระวังด้านการระบาดของโรคเหล่านี้มากขึ้นในปัจจุบัน
          การระบาดของมาเลเรียและโรคเท้าช้างเป็นต้นในจังหวัดชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเชื่อว่ามาจากการเดินทางข้ามมาของคนมากกว่าเป็นผลโดยตรงจากสภาพอากาศ อย่างไรการอพยพย้ายถิ่นส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมต่อผลผลิตทางการเกษตรรวมถึงผลผลิตจากระบบนิเวศที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นในอนาคตถ้าความแปรปรวนของสภาพอากาศมีมากขึ้นการอพยพทั้งแบบชั่วคราวและถาวรก็จะนำไปสู่การกระจายของโรคและปัญหาสังคมในลักษณะอื่นๆ ที่ติดตามมาอีกด้วย
นอกจากปัญหาด้านโรคระบาดแล้ว สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะนำไปสู่การใช้เคมีภัณฑ์ทางการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาระดับของผลผลิต ซึ่งสารเคมีที่ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ดินและอากาศ ก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพอนามัยในระยะยาวด้วยเช่นกัน
การคาดการณ์อนาคตว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมที่มีผู้สูงอายุในสัดส่วนที่สูงขึ้นก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเปราะบางและภาระของสังคมต่อสภาวะอากาศที่มีความแปรปรวนสูงขึ้นด้วย

ข้อมูลโดย อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น