2554-02-20

วิสัยทัศน์การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ


พื้นที่ที่มีความเสี่ยงและเปราะบางของประเทศไทย คือ พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มากมายและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ อาทิ เช่น การเกษตร อุตสาหกรรม โรงงาน การประมง การท่องเที่ยว โดยข้อมูลจาก สศช. ในปี 2551 แสดงว่า มูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของพื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)  ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การทรุดตัวของแผ่นดิน  การเปลี่ยนแปลงของมรสุม และน้ำท่วม ซึ่งหากไม่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทางการพัฒนา และดำเนินการเพื่อรับมือในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเหมาะสมแล้ว จะยิ่งส่งผลให้ความเสียหายรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา ได้มีนักวิชาการหลายท่านในประเทศไทย คาดการณ์ระดับความรุนแรงของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5-10 มิลลิเมตรต่อปี และการทรุดตัวของแผ่นดินประมาณ 20 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งถ้าหากรวมตัวเลขดังกล่าวแล้ว เท่ากับว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นปีละเกือบ 30 มิลลิเมตร หรือ 3 เซนติเมตรต่อปี ดังนั้นในอีกประมาณ 50 ปีข้างหน้า คือ ปี พ.ศ. 2600 ระดับน้ำทะเลสุทธิจะเพิ่มสูงขึ้นได้ถึงประมาณ  150  เซนติเมตร หรือ 1.5 เมตร ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีความสูงเหนือระดับทะเลประมาณ 1 เมตรเท่านั้น ดังนั้น หากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกว่า  1  เมตรแล้ว กรุงเทพมหานครย่อมจะต้องประสบปัญหาหนักอย่างแน่นอน
แนวทางการเพื่อสร้างกระบวนทัศน์ด้านอนาคตศึกษา เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
การดำเนินการดังกล่าว จำเป็นต้องมีการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ มองข้ามปัญหาและความขัดแย้งในปัจจุบัน โดยมองปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในอนาคตอย่างเป็นองค์รวม และมีการหาแนวทางการดำเนินการป้องกันเพื่อลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในสังคม โดยทางศูนย์ฯ มีข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานในอนาคตดังนี้
1.     การวิจัยและศึกษาในเรื่องความเปราะบางของพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการติดตามและประเมินเคลื่อนตัวทางดิ่งของเปลือกโลกจากทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและกำหนดแนวทางการดำเนินการ
2.     จัด Dialogue เพื่อเป็นเวทีในการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน มาร่วมกันแลกเปลี่ยน หารือ เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เหมาะสมมากที่สุด และเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน
3.     การจัดการและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบจากการพัฒนาที่ประชาชนและกลุ่มที่สนใจสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย โปร่งใส และมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
4.     การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาเมืองในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศมาให้ความรู้ และการจัดศึกษาดูงาน เป็นต้น




 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น