2554-02-22

กรณีศึกษาทางการรับมือในอนาคตของชุมชนเกษตรกรรมชายฝั่ง บ้านคลองประสงค์

บ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและต้องเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลหนุน ซึ่งสภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่จะทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งปัญหาจากน้ำทะเลหนุนยังคงเป็นปัญหาหลักของการปลูกข้าวที่นี่ โดยชาวบ้านตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ปัญหานี้นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ด้วยเหตุนี้ทางประธานกลุ่มชาวนาบ้านเกาะกลางจึงได้ทดลองสร้างคันดินขนาดเล็กในที่นาของตนเอง เพื่อเป็นการทดลองกั้นน้ำเค็มและพบว่าได้ผลดี ต่อมาจึงได้เสนอโครงการคันดินกั้นน้ำขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งประกอบด้วยแนวคันดินกั้นน้ำสำหรับพื้นที่นาข้าวในหมู่ที่ 1 รวมระยะทางประมาณ 6.7 กม


ต่อมาได้สร้างเพิ่มระยะทางประมาณ 3.5 กม และก่อสร้างอีกประมาณ 1.4 กม โดยเป็นคันดินถมที่มีสันเขื่อนสูงประมาณ 2.0 เมตรจากระดับทะเลปานกลางมาตรฐานของประเทศไทย (MSLo) คันกั้นน้ำส่วนที่เหลืออาศัยถนนหรือแนวคันบ่อที่มีอยู่เดิม ซึ่งเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะช่วยป้องกันพื้นที่ได้ราว 1,200 ไร่

แม้วันนี้จะมีแนวทางการปัองกันในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่อาจเพียงพอ เนื่องจากการคาดการณ์ว่า ในอนาคตพื้นที่ที่ในปัจจุบันไม่เคยท่วมก็จากท่วมเพิ่มมากขึ้นเนื่องมาจากระดับทะเลที่สูงขึ้นผนวกกับการทรุดตัวของแผ่นดินชายฝั่ง

กรณีพื้นที่บ้านคลองประสงค์นับเป็นหนึ่งในกรณีปัญหาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวของชุมชนที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันก็ได้มีการวิเคราะห์ คาดการณ์จากสภาพอากาศในอนาคตประกอบไปกับสถานการณ์ปัญหาจริงในชุมชน เพื่อหาแนวทางรับมือในอนาคตให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีแนวคิดและวิเคราะห์ดังนี้

การรับมือกับภาวะน้ำทะเลหนุนในปัจจุบันและอนาคต มี 3 แนวทางด้วยกันคือ
การป้องกันโดยใช้คันกั้นน้ำเค็ม
            พื้นที่ที่ปัจจุบันนี้เป็นหรือเคยเป็นนาข้าวในหมู่ที่ 1 บ้านเกาะกลางมีทั้งสิ้น 617 ไร่ ซึ่งถ้ามีการปลูกข้าวเต็มพื้นที่เหล่านี้และมีผลผลิตโดยเฉลี่ย 450 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อไร่ต่อปี ก็จะได้ผลผลิตเต็มศักยภาพรวมประมาณ 278 ตันต่อปีหรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 168.4 ล้านบาทตลอดช่วงฐาน 30 ปี (คิดจากราคาปัจจุบันของข้าวเปลือกสังข์หยด) แต่ถ้าไม่มีมาตรการรับมือใดๆ ต่อภาวะน้ำทะเลหนุน ศักยภาพการผลิตสูงสุดจะเหลือเพียง 140.4 ล้านบาท (ราคาในปัจจุบัน) ต่อช่วง 30 ปี เท่านั้น
           
กลุ่มชาวนาซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนบ้านเกาะกลางได้ใช้ความรู้จากความแปรปรวนของระดับน้ำทะเลในอดีตเป็นข้อมูลหลักในการตัดสินใจเลือกการสร้างคันดินกั้นน้ำเค็มยาวทั้งสิ้น 6.7 กิโลเมตร เพื่อเป็นมาตรการในการรับมือกับน้ำทะเลหนุนที่เกิดขึ้น โดยระดับความสูงที่ใช้คือ 2.0 เมตรจาก MSLo มีสันเขื่อนด้านบนกว้างโดยเฉลี่ย 3 เมตร ความลาดชันไหล่ 1:1 โดยประมาณ ซึ่งค่าก่อสร้างในปัจจุบันตกกิโลเมตรละ ประมาณ 1 ล้านบาท แต่การสร้างคันที่สูงมากขึ้นจะทำให้ราคาค่าก่อสร้างต่อกิโลเมตรเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้าตามพื้นที่ภาคตัดขวางที่เพิ่มในสัดส่วนที่มากขึ้นด้วย ดังตัวอย่างที่แสดงในภาพที่ 11
           
ผลประโยชน์ทางตรงที่ได้จากคันกั้นน้ำเค็มคือลดความเสียหายของผลผลิตข้าว ซึ่งการวิเคราะห์ผลตอบแทนในส่วนนี้ต่อต้นทุนการก่อสร้างพบว่าคันดินที่มีความสูง 2 เมตรจาก MSLo ที่กลุ่มชาวนาเลือกใช้จากประสบการณ์ในอดีตนั้นเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนตลอดช่วงปีฐาน 30 ปี (1980-2009) ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด (ภาพที่ 12) คือประมาณ 4.19 เท่า ด้วยเช่นกัน
           
อย่างไรก็ตาม ถ้านำการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคต ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของระดับทะเลเฉลี่ย การทรุดตัวของแผ่นดินและความแปรปรวนของลมมรสุมมาวิเคราะห์ร่วมด้วยจะพบว่าคันกั้นน้ำน้ำที่ความสูงเพียง 2 เมตรจาก MSLo นี้จะไม่สามารถป้องกันน้ำทะเลหนุนได้เลย แม้แต่ในช่วงอนาคตอันใกล้ (2010-2039) โดยการก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มในอนาคตที่คุ้มค่าการลงทุนที่สุดควรจะมีความสูงจาก MSL0 2.50, 2.75 และ 3.50 เมตร สำหรับช่วงปี ค.ศ. 2010-2039, 2040-2069 และ 2070-2099 ตามลำดับ

ตารางที่ 4. คันกั้นน้ำเค็มที่มีสัดส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนที่สูงที่สุดเพื่อเป็นทางเลือกเพื่อรับมือในแนวทางการป้องกัน (defense) นาข้าวจากกับน้ำทะเลหนุนในอนาคตเทียบกับการไม่ทำอะไร (ราคาต่างๆ เป็นราคาปัจจุบัน)

1980-2009
2010-2039
2040-2069
2070-2099
คันกั้นน้ำเค็ม
ไม่มี
มี
ไม่มี
มี
ไม่มี
มี
ไม่มี
มี
ความสูงสันเขื่อน (เมตร MSLo)
0
2.00
0
2.50
0
2.75
0
3.50
ค่าก่อสร้าง (ล้านบาท)
0
6.7
0
9.2
0
10.6
0
15.2
ผลผลิตข้าวได้ (ล้านบาท/30ปี)
140.4
168.4
58.9
168.4
13.7
152.2
3.0
168.4
ข้าวเสียหาย (ล้านบาท/30ปี)
28.1
0
109.6
0
154.7
16.2
165.4
0
ผลตอบแทนต่อการลงทุน
0
4.19
0
11.90
0
13.07
0
10.85


การใช้คันกั้นน้ำเค็มร่วมกับการชดเชยความเสียหาย
คันกั้นน้ำที่สร้างขึ้นอาจจะไม่สามารถป้องกันน้ำทะเลหนุนท่วมได้เต็ม 100% เนื่องจากอาจจะมีน้ำที่สูงเกินความคาดหมายหรือที่เป็นไปได้มากกว่าคือการขาดความต่อเนื่องของงบประมาณในการขยายหรือปรับปรุงความสูงของคันกั้นน้ำให้เหมาะสมตามสภาพของระดับทะเลที่เพิ่มขึ้นและการทรุดตัวของแผ่นดินในอนาคต โดยกรณีนี้จะสมมติสถานการณ์ว่า ถ้ามีการสร้างคันกั้นน้ำได้ครบทั้ง 6.7 กิโลเมตร ในช่วงปีฐานโดยมีระดับความสูงต่างๆ กัน แต่หลังจากนั้นไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ เพื่อประเมินว่าเมื่อเวลาผ่านไปประสิทธิภาพของคันกั้นน้ำแต่ละระดับจะมีประสิทธิภาพลดลงอย่างไรและถ้าจะต้องมีการชดเชยแก่ชาวนาที่ผลผลิตเสียหาย จะต้องชดเชยเป็นจำนวนวงเงินประมาณเท่าใด
           
จะเห็นได้ว่าการลงทุนสร้างครั้งแรกให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวจะเป็นการลงทุนที่วงเงินโดยรวมจะน้อยกว่าการชดเชยในอนาคตมาก นอกจากนี้คันกั้นน้ำระดับ 2.0 เมตรจาก MSL0 ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันน้ำทะเลหนุนแม้แต่ในอนาคตอันใกล้ โดยการชดเชยความเสียหายถ้ามีการปลูกข้าวจริงเต็มพื้นที่จะมีวงเงินสูงถึง 109.6 ล้านบาทต่อช่วง 30 ปีแรกที่จะมาถึงนี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับการสร้างคันกั้นน้ำที่มีความสูง 2.5 เมตร MSLo ซึ่งจะสามารถป้องกันน้ำหนุนในช่วงปี 2010-2039 ได้อย่างสมบูรณ์ โดยลงทุน 9.2 ล้านบาท (ราคาในปัจจุบัน) ก็จะมีระยะเวลาคืนทุนเพียงประมาณ 3 ปี หรือแม้แต่การลงทุนเป็นเงิน 15.2 ล้านบาท เพื่อสร้างคันกั้นน้ำขนาด 3.5 เมตร ซึ่งจะป้องกันน้ำหนุนไปได้จนถึงปี 2099 ก็จะมีระยะเวลาคืนทุนเพียงประมาณ 5 ปี เท่านั้น

ตารางที่ 5. คันกั้นน้ำเค็มสร้างที่ระดับความสูงสันเขื่อนต่างๆ ในช่วงปีฐาน (1980-2009) และวงเงินชดเชยความเสียหายต่อแต่ละช่วง (30 ปี) จากน้ำทะเลหนุนสูงกว่าระดับสันเขื่อน
ความสูงสันเขื่อน (เมตร MSLo)
ค่าก่อสร้าง
(ล้านบาท)
วงเงินชดเชย (ล้านบาทต่อ 30 ปี)
1980-2009
2010-2039
2040-2069
2070-2099
1.25
3.6
28.1
109.6
154.7
165.4
1.50
4.5
28.1
109.6
154.7
165.4
1.75
5.6
19.4
109.6
154.7
165.4
2.00
6.7
0
109.6
154.7
165.4
2.25
7.9
0
26.9
154.7
165.4
2.50
9.2
0
0
154.7
165.4
2.75
10.6
0
0
16.2
165.4
3.00
12.1
0
0
0
165.4
3.25
13.6
0
0
0
149.0
3.50
15.2
0
0
0
0



ปรับตัวกับความเค็มโดยเปลี่ยนพื้นที่นาที่ได้รับผลกระทบเป็นบ่อเลี้ยงปูทะเล
การเลี้ยงปูทะเลเป็นกิจกรรมที่มีชาวบ้านเกาะกลางบางส่วนได้เริ่มทำในพื้นที่ที่ดินเค็มอย่างถาวรโดยการขุดเป็นบ่อขนาด 2-3 ไร่ให้พื้นบ่อบางส่วนลึกลงไปถึงระดับน้ำลงต่ำสุดและบางส่วนปรับให้เป็นที่สูงเพื่อให้ปูขุดรูอยู่อาศัย รวมทั้งปลูกต้นไม้ชายเลนยืนต้นเพื่อให้ร่มเงาและเพิ่มสารอินทรีย์ในบ่อด้วย การเลี้ยงเป็นแบบธรรมชาติโดยให้อาหารสดเสริมบ้าง ซึ่งรายได้จากการขายปูทะเลจะตกประมาณ 6,000 บาทต่อไร่ต่อปี

การปรับตัวโดยปรับที่ดินในบริเวณที่เป็นพื้นที่ต่ำน้ำทะเลท่วมถึงได้ให้เป็นโซนบ่อเลี้ยงปูจะมีค่าใช้จ่ายในการขุดบ่อ ซึ่งในแต่ละบ่อนั้นจะมีทั้งส่วนที่สูงและต่ำแต่ระดับของก้นบ่อโดยเฉลี่ยจะประมาณอยู่ที่ระดับทะเลปานกลางจริง (MSLt) ซึ่งจะสูงกว่าระดับทะเลปานกลางมาตรฐาน (MSLo) เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อนในอนาคต โดยค่าใช้จ่ายในปัจจุบันในการขุดบ่ออยู่ที่ประมาณ 35,000 บาทต่อไร่ต่อความลึกบ่อ 1 เมตร นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในชุมชนรายได้จากการเลี้ยงปูบางส่วนจึงจะจัดสรรเพื่อชดเชยให้กับนาข้าวส่วนที่ยังคงได้รับความเสียหายจากน้ำทะเลหนุนด้วย

การวิเคราะห์ผลตอบแทนต่อต้นทุนการขุดบ่อปู (รวมเงินที่ใช้ชดเชยแก่นาข้าวที่เสียหาย) แสดงให้เห็นว่าจุดที่คุ้มทุนที่สุดในช่วงปีฐาน (1980-2009) คือการเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวที่ปัจจุบันอยู่ที่ต่ำกว่าแนวระดับ 2.00 เมตรจาก MSLo ให้เป็นโซนบ่อเลี้ยงปูทะเล อย่างไรก็ตามผลตอบแทน (ตลอด 30 ปี) ต่อการลงทุนจะค่อนข้างต่ำ (ประมาณ 3.09) ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องชดเชยให้กับนาข้าวเลยก็ตาม

ในอนาคตจากการที่ระดับทะเลเพิ่มสูงสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนประกอบกับการทรุดตัวของแผ่นดินจึงทำให้ความลึกของบ่อที่ต้องขุดจะน้อยลงกว่าเดิม ส่งผลให้ต้นทุนลดลงด้วย ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่บางส่วนอยู่ต่ำกว่าระดับทะเลปานกลางจริงในช่วงนั้น (MSLt) ซึ่งไม่สามารถขุดบ่อได้ แต่ผลตอบแทนต่อการลงทุนก็จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในอนาคตระยะยาว (2069-2099) แต่ก็จะส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวจะลดลงอย่างมากจนแทบจะไม่เหลือเลยเมื่อสิ้นคริสศตวรรษ (ตารางที่ 6)

ตารางที่ 6. การจัดโซนนิ่งพื้นที่เลี้ยงปูทะเลเพื่อให้ผลตอบแทนต่อต้นทุนสูงที่สุดเพื่อเป็นทางเลือกในการปรับตัวแบบอยู่กับความเค็มที่เกิดขึ้นจากน้ำทะเลหนุนในอนาคต (ราคาต่างๆ เป็นราคาปัจจุบัน)

1980-2009
2010-2039
2040-2069
2070-2099
แนวสูงสุดของโซนเลี้ยงปู (อ้างอิงแนวเส้นชั้นความสูงในปัจจุบันจาก MSLo)
2.00
2.50
2.75
3.25
พื้นที่เพื่อการเลี้ยงปู (ไร่)
166
498
570
442
ค่าใช้จ่ายในการขุดบ่อ (ล้านบาท)
9.7
26.8
21.5
9.7
รายได้จากปู (ล้านบาทต่อ 30 ปี)
29.9
89.7
102.6
79.6
พื้นที่ปลูกข้าว (ไร่)
458
125
54
15
เงินชดเชยนาข้าวที่เสียหาย (ล้านบาทต่อ 30 ปี)
0
0
0.8
1.1
ผลตอบแทนต่อการลงทุน
3.09
3.35
4.74
8.10

พื้นที่บางส่วนอยู่ต่ำกว่า MSLt ของช่วงเวลานั้นจึงไม่สามารถขุดบ่อได้
ค่าใช้จ่ายในระยะยาวลดลงเนื่องจากระดับ MSLt สัมพัทธ์กับพื้นดินเพิ่มสูงขึ้น

การเปรียบเทียบทางเลือกการรับมือแบบป้องกันและการปรับตัว

ในช่วงปีฐาน (1980-2009) ผลตอบแทนต่อการลงทุนของทางเลือกทั้งสองจะใกล้เคียงกัน แต่ในช่วงอนาคตอันใกล้ (2010-2039) และในระยะกลาง (2040-2069) ทางเลือกในแนวทางการป้องกันโดยใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมคือคันดินกั้นน้ำเค็มจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่าทางเลือกในแนวทางการปรับตัวมาก แต่ในระยะยาว (2070-2099) ทางเลือกในแนวทางหลังนี้จะมีความคุ้มทุนที่ดีขึ้นในขณะที่แนวทางแรกจะเริ่มคุ้มทุนน้อยลง (ภาพที่ 16) ดังนั้นการใช้ส่วนผสมของทั้งสองแนวทางจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่ากล่าวคือในช่วง 60 ปีแรกยังคงใช้แนวทางของคันกั้นน้ำเค็มแต่หลังจากนั้นขึงปรับไปเป็นการเพราะเลี้ยงสัตว์ทะเลที่สอดคล้องกับความเค็มที่เพิ่มขึ้นจากระดับทะเลสัมพัทธ์ที่สูงขึ้นมากจนทำให้ต้นทุนการรับมือโดยใช้แนวทางทางวิศวกรรมพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนในการปรับตัวจะลดต่ำลง

อย่างไรก็ตามการคำนวณต้นทุนต่างๆ ในที่นี้ยังไม่ได้คิดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ฯลฯ ซึ่งวิธีการศึกษายังจะต้องมีการพัฒนาต่อไป

ข้อมูลจากเอกสาร เรื่องแนวทางการรับมือต่อการเพิ่มและความแปรปรวนของระดับทะเลในอนาคตของชุมชนเกษตรกรรมชายฝั่ง บ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดย START, 2553
(โครงการศึกษาด้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในอนาคตและการปรับตัวของภาคส่วนที่สำคัญ สนับสนุนโดย สำนักงานนโยบายและแผนและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

1 ความคิดเห็น:

  1. กรณีศึกษาของการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ซึ่งต้องมีการประเมินกันต่อไปว่า สิ่งก่อสร้างดังเช่น คันดินกั้นน้ำเค็ม ที่ชาวบ้านได้ทำขึ้นนี้ จะยังมีความสามารถหรือศักยภาพเพียงพอสำหรับการป้องกัน หรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตได้หรือไม่ แต่อย่างน้อย ณ ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านก็ยังได้ตระหนักและรู้ว่า ตัวเอง กำลังรับมือและเสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ถึงจะเป็นเพียงแค่ในระยะสั้นก็ตาม....

    ตอบลบ