2554-05-04

มาร่วมกันเลือกนโยบาย..(ครั้งที่ ๑)

โครงการศึกษามาตรการลดผลกระทบจากภูมิอากาศในอนาคตของประเทศไทย  แบ่งกลุ่มศึกษา 4 กลุ่มตามประเด็นสำคัญ คือ ภาคเหนือ(ภัยพิบัติธรรมชาติ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(น่าจะเป็นการจัดการน้ำลุ่มน้ำแม่โขง-ถ้าจำไม่ผิด) ภาคใต้(การพัฒนาโครงการโลจิสติกส์และอื่นๆ บริเวณชายฝั่งอันดามันตอนล่าง-สตูล)  และภาคกลาง (เขตเมืองชายฝั่งภาคกลาง) 

ผลการศึกษาทั้งหมดไม่ใช่การศึกษาใหม่ถอดด้ามเสียทีเดียว  แต่เป็นการศึกษาสรุปการพัฒนานโยบายและโครงการต่างๆ เพื่อรับมือกับภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา  แล้วมาศึกษาบริบทในปีนี้อีกครั้งพร้อมนโยบายการพัฒนาในปัจจุบัน และวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในอนาคตอีกครั้ง  แล้วจึงจัดทำนโยบายที่เหมาะสมที่สุด(ภายใต้การหารือกับฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง)  ส่งมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติฯ ไปใช้ขับเคลื่อนงานต่อทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงตนเอง และกระทรวงอื่นๆ รวมถึงการดำเนินงานตามพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอัพเดตผลที่เกิดขึ้นจากการประชุมรัฐภาคีในทุกๆ ปีเฉพา ะส่วนที่ผมรับผิดชอบคือ เขตเมืองชายฝั่งภาคกลางซึ่งก็คือกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น  


การวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในช่วงปี 2012-2061 โดยใช้ PRECIS ECHAM4 (โปรแกรมวิเคราะห์) โดยใช้สถานการณ์ว่าการพัฒนาในภาพรวมเน้นด้านเศรษฐกิจและมีความร่วมมือในภูมิภาค ...  พบว่าสิ่งที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงหากภาพรวมของการพัฒนายังเป็นแบบนี้ คือ  อากาศร้อนขึ้น  และฝนตกมากขึ้น (ตามกราฟ)

แนวโน้มอุณหภูมิสูงสุด

แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ย

แนวโน้มปริมาณน้ำฝน

การเปลี่ยนแปลงทั้งสองอย่างนี้มีผลอย่างไรต่อเขตเมืองชายฝั่งภาคกลาง  ก็ต้องดูสภาพของพื้นที่เขตเมืองชายฝั่งภาคกลางตั้งแต่สภาพธรรมชาติของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ในเขตอิทธิพลของทะเล และอิทธิพลของแม่น้ำสายต่างๆ ซึ่งเขตชายฝั่งภาคกลางได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำมาก  ในส่วนของปลายน้ำ คือ น.เจ้าพระยา  น.ท่าจีน น.แม่กลอง น.บางปะกง  เหนือขึ้นไปก็ น.ป่าสัก  และ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ...  

สภาพสังคมและเศรษฐกิจดูจากโครงสร้างเศรษฐกิจว่าเขตเมืองคือเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรกรรม   กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงอยู่ในลักษณะนั้น และนำมาถึงวิถีชีวิตของประชาชนและองค์กรตามไปด้วย   สิ่งสำคัญสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ คือ คุณลักษณะของประชาชนซึ่งรวมหมดทั้งคนในภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนทั่วไป ...  คนเมืองมีลักษณะอย่างไร   มีผลตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร...

ทั้งหมด  เป็นบริบทของพื้นที่ที่ศึกษาครอบคลุม  เพื่อคิดหานโยบายที่เป็นไปได้ในการนำมาใช้

สองเดือนกว่าที่ผ่านมา  ได้ศึกษาข้อมูลทั้งหมดที่ว่ามาข้างต้นอย่างละเอียดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับการพัฒนางานที่แล้วๆ มา  จนได้ประเด็นสำคัญมา 10 ประเด็น เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดทำนโยบายร่วมกับฝ่ายต่างๆ ในช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้

๑.ปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง

๒.การเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าในเขตเมือง

๓.มลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

๔.ผลกระทบต่อสุขภาพผู้ทำงานกลางแจ้ง เด็กและคนชราในช่วงอุณหภูมิสูงสุด

๕.มาตรการทางผังเมืองที่มีผลลดอุณหภูมิในบรรยากาศและจัดการน้ำทั้งระบบ

๖.ค่าครองชีพและต้นทุนขององค์กรจากการใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงในที่ทำงาน/บ้านเรือน/การเดินทาง/ขนส่งสินค้า

๗.ค่าเสียโอกาสในช่วงเวลาน้ำท่วมจากการเดินทาง

๘.ความสุขคนเมืองจากอิทธิพลของสภาพอากาศและปัญหาน้ำท่วม

๙.ความเป็นสังคมบริโภคและวิถีชีวิตที่อยู่กับการเปลี่ยนแปลงตามปกติของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติน้อยเปรียบเทียบกับเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน

๑๐.ความเป็นจุดศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบรวมศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ทุกข้อเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้  บางข้อเป็นเรื่องผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ  บางข้อเป็นผลกระทบต่อเนื่อง  บางข้อเป็นตัวแปรสาเหตุให้ผลกระทบรุนแรงหรือเบาบางลง   ส่วนใหญ่การพัฒนานโยบายในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทยก็ระบุประเด็นเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่เช่นกัน   แต่มีอยู่ ๔ ประเด็นที่ไม่เคยกล่าวถึง(หรือมีแต่ผมอาจศึกษาไม่ครอบคลุม)  ได้แก่  เรื่องจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมแบบรวมศูนย์   สังคมบริโภค/วิถีชีวิตที่ห่างไกลธรรมชาติ  ความสุขคนเมือง  และค่าเสียโอกาส

ทั้ง ๑๐ ประเด็นนี้   คือสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญต่อการนำมาพัฒนาเป็นนโยบายในการปรับตัวของเขตเมืองชายฝั่งภาคกลางเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภูมิอากาศในอนาคต   โดยต้องการแลกเปลี่ยนกับคนฝ่ายต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องและมีความสนใจ  เพื่อจัดทำนโยบายในขั้นสุดท้ายร่วมกัน   ในการทำงานแบบ walk in  จะมีการหารือกับฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในเขตเมืองอยู่แล้ว    สำหรับใน social network แห่งนี้   ก็เปิดกว้างสำหรับทุกกลุ่มที่สนใจ

หากคิดว่าประเด็นใดสมควรนำมาทำเป็นนโยบาย "ก็แสดงความคิดเห็นกันนะครับ"    และอาจจะเป็นประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ก็ได้   หากท่านคิดว่าเหมาะสมกว่า เอนทรี่นี้  จะพูดถึงประเด็นแรกก่อน  ที่เหลือจะค่อยๆ ทยอยพูดไปทีละข้อในภายหลัง

๑.ปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง

ปัญหาน้ำท่วมเวลาฝนตกหรือน้ำหลากในช่วงฤดูฝนเป็นปัญหาเรื้อรังในเขตเมืองอยู่แล้ว   ดังนั้น  แนวโน้มว่าฝนจะตกมากขึ้น ย่อมทำให้ปัญหานี้หนักขึ้น   

ปัญหานี้มี 2 มิติที่ต้องจัดการ คือ  ระบบระบายน้ำจากเขตเมือง  กับ ระบบจัดการปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพล ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ,  การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำหลากจากตอนเหนือ  และ แผ่นดินทรุด

จากการศึกษางานของเขตเมืองต่างๆ พบว่ากำลังแก้ไขเรื่องระบบระบายน้ำในเขตเมืองอย่างต่อเนื่อง  แต่บางแห่งที่ช้านั้น เนื่องจากพื้นที่รองรับน้ำฝนและน้ำหลากยังจำกัด  ทั้งในเรื่องจำนวนพื้นที่และศักยภาพในการรับน้ำ  และระบบบริหารจัดการ   แต่คาดว่าแนวโน้มในอนาคตจะแก้ไขดีขึ้นเรื่อยๆ จากการทำงานที่ต่อเนื่อง 

ดังนั้น   ประเด็นที่ควรใส่ใจคือ  ปัจจัยภายนอกมากกว่า   ว่าจะรับมือกับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างไร และน้ำหลากมากขึ้นอย่างไร ...  เหมือนกับการจัดการแนวกันชนของเมืองให้ดีขึ้น  ปัญหาในเมืองจะได้ลดลงตามไปด้วยนั่นเอง

มีการศึกษาและหารือในระดับนโยบายในเรื่องนี้มาพอสมควร  แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน  โดยเฉพาะการจัดการกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น    ประเด็นที่ชัดเจนที่สุด คือ การเสนอเรื่องโมเดลประตูน้ำปิดอ่าวไทยตอนใน  โดยสร้างเป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างชลบุรีกับหัวหิน  นำเสนอโดยนักวิชาการบางส่วนของประเทศไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา   แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น