2554-02-18

เวทีเริ่มต้นเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาพื้นที่อ่าวไทยตอนบน


18 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการศึกษาเพื่อกำหนดเป้าหมาย ด้านการจัดการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรพื้นที่ชายฝั่งของไทยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เป็นการร่วมประชุมครั้งใหญ่จากหลายภาคส่วน เพื่อนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัย ระดมสมอง เพื่อช่วยกันป้องกันการเกิดอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ชายฝั่งของไทยให้มีความปลอดภัย อีกทั้งเพื่อศึกษา กระบวนการ หรือขั้นตอนที่จำเป็นในการจัดการระบบน้ำในประเทศไทยในบริเวณพื้นที่เสี่ยง และสรุปการศึกษาความเป็นไปได้และสิ่งที่จะเกิดขึ้นของแผนในบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำในอนาคตทั้งในระยะสั้นระยะยาว 
ที่มาของโครงการประชุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่โดยประมาณ 55% ของกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หากน้ำทะเลขึ้นสูงกว่า 50 เซนติเมตร หรืออาจจะถึง 75% ถึง 100% นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การพังทลายของชายฝั่ง ผลผลิตข้าว รวมถึงการทรุดตัวของแผ่นดินอันเนื่องมาจากน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากปัญหาดังกล่าวยังขาดแนวทางป้องกันและเกิดน้ำท่วมขึ้นจริง นั่นหมายความถึงศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ยื่นเรื่อง Identification Mission of Dutch Experts โดยทางรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยินดี แต่งตั้งและส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชายฝั่งอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4 ท่าน เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของไทย ภารกิจคือระบุปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขในระยะยาวสำหรับพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย โดยมอบหมายให้ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ CCKM) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นในการแลกเปลี่ยนปัญหาพื้นที่ชายฝั่งในหลากหลายภาคส่วน เพื่อให้ได้คำตอบอันเป็นผลสรุปและประเมินความเป็นไปได้ในการหาแนวทางป้องกันที่เหมาะสมและดีที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบของสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่นเดียวกับประเทศเนเธอร์แลนด์

1 ความคิดเห็น:

  1. หน่วยงานที่เข้ามาร่วมในครั้งนี้ ทั้ง สผ (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจังหวัดชายฝั่งอ่ายไทยรูปตัว ก กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย หน่วยงานด้านการศึกษา และองค์กรภาคประชาชน ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างมีแผนงานหรือการรับมือในระดับกรมกองตามภาระหน้าที่ของหน่วยงานอยู่แล้ว หรือแม้แต่ประสบการณ์การทำงานในระดับพื้นที่อื่นๆ

    ตอบลบ