2554-02-19

วิสัยทัศน์เพื่อการจัดการน้ำในอนาคต

ภาวะเรือนกระจกเนื่องมาจากก๊าซเรือนกระจกหลากชนิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศในหลายรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้กระจายของความร้อน ความชื้นและปริมาณเมฆในชั้นบรรยากาศในแต่ละฤดูกาลมีความแปรปรวนผิดแผกไปจากเดิมอีกด้วย 

ถึงแม้ว่าประเทศไทยอาจจะได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยเฉลี่ยน้อยกว่าอีกหลายๆ ประเทศ แต่ความแปรปรวนที่อาจจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะปริมาณฝน จำนวนวันฝนตก ระยะเวลาการทิ้งช่วง รวมทั้งอุณหภูมิอากาศและความเร็วลม ซึ่งจะมีผลต่อการคายและการระเหยของน้ำอีกด้วย ก็อาจจะส่งผลต่อปริมาณน้ำสุทธิของแต่ละลุ่มน้ำที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในบางลุ่มน้ำซึ่งอัตราการใช้น้ำต่อปริมาณน้ำต้นทุนมีสัดส่วนที่ใกล้กัน ดังนั้นประเด็นปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อทรัพยากรน้ำยิ่งมีความสำคัญ  

การเปลี่ยนแปลงค่าพารามิเตอร์โดยเฉพาะพารามิเตอร์ทางสถิติของตัวแปรทางภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ เช่น ค่าเฉลี่ย ความแปรปรวนหรือค่าเบี่ยงเบน ความถี่และรูปแบบของการ กระจายของปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิและความเร็วลม ทั้งในเชิงเวลาและสถานที่เป็นต้นนั้น มักจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยอาจจะใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่ค่าของพารามิเตอร์เหล่านั้นจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

สเกลเชิงเวลาของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งกว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนก็อาจจะอยู่ในระดับหลายสิบปีไปในอนาคตนั้น จึงทำให้การศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบและแนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความแตกต่างจากการประเมินผลกระทบเพื่อหามาตรการเพื่อป้องกันหรือรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศเช่นพายุ ความแห้งแล้งและคลื่นความร้อน ในระดับหรือความถี่ที่เคยเป็นมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถตรวจวัดได้อย่างชัดเจน จึงทำให้สามารถกำหนดมาตรการที่เหมาะสมได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิธีการทางวิศวกรรม มาตรการทางสังคม ทางเศรษฐศาสตร์หรือทางนิเวศวิทยาก็ตาม แต่ในทางกลับกัน การมองประเด็นปัญหาในระยะยาวไปในอนาคตนั้นจะมีปัจจัยทั้งทางธรรมชาติ ทางสังคมและอื่นๆ อีกมากมายซึ่งบางส่วนอาจจะพอคาดการณ์ได้ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่สามารถจะกำหนดให้ชัดเจนได้  

การมองอนาคตเพื่อการวางแผนเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำในบริบทที่ว่าปัจจัยแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งภูมิอากาศด้วยนั้นสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้ อาจมองได้ใน 2 แนวทาง โดยแนวทางแรกคือการมองว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจจะทำให้ปริมาณน้ำ ฤดูกาลและความแปรปรวนของปริมาณน้ำต้นทุนของประเทศและของแต่ละพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตและปัจจุบัน  ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจึงเป็น ปัญหา ที่จะต้องมี มาตรการเพื่อลดปัญหาหรือเพื่อทำให้ระบบและภาคส่วนที่พึ่งพากับทรัพยากรน้ำทั้งในเชิงนิเวศ สังคมและเศรษฐกิจ สามารถ ดำเนินต่อไปได้โดยอาจมีการปรับตัวตามที่จำเป็น ส่วนแนวทางการมองอีกแนวทางหนึ่งคือการมองว่าการพัฒนาจะทำให้ระบบและภาคส่วนต่างๆ มีความต้องการปริมาณและรูปแบบของทรัพยากรน้ำที่แตกต่างไปจากในปัจจุบัน ซึ่งภายใต้ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องด้วยนั้นอาจจะทำให้ความต้องการน้ำในอนาคตจะมากเกินกว่าที่ภูมิอากาศสามารถที่จะตอบสนองให้ได้ ดังนั้นแนวทางนี้จึงมองว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็น โอกาสหรือ ข้อจำกัดของการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาจึงควรที่จะดำเนินไปในทิศทางที่ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีแต่ไม่เกินจากขีดจำกัดเหล่านี้ 

ถึงแม้ว่าแนวทางการมองอนาคตทั้งสองแนวจะเป็นการนำประเด็นทางภูมิอากาศ ตัวทรัพยากร และสภาพทางเศรษฐกิจสังคม มาบูรณาการร่วมกัน แต่รายละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการข้อมูลเพื่อใช้ในกระบวนการมองอนาคตจะค่อนข้างมีความแตกต่างกัน การมองโดยใช้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นตัวตั้งนั้นทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีภาพของภูมิอากาศในอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจนและเชื่อมั่นได้สูง ซึ่งในทางปฏิบัติการทำโมเดลเพื่อคาดการณ์อนาคตโดยคำนึงทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและมิติของมนุษย์นั้นยิ่งมีระยะเวลาที่ยิ่งไกลออกไปในอนาคต ความไม่แน่นอนและความแปรปรวนก็จะยิ่งสูง ซึ่งมักจะสูงเกินกว่าจะที่หาข้อสรุปที่เป็นเอกภาพพอที่จะสามารถตัดสินใจกำหนดมาตรการเพื่อรับมือได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นแนวทางนี้จึงมักจะเป็นประโยชน์สำหรับการคาดการณ์อนาคตในช่วงที่ไม่ไกลมากนัก เช่น 10-20 ปี ซึ่งภาพต่างๆ ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ เศรฐกิจและสังคมของระบบหรือภาคส่วนที่ศึกษาค่อนข้างมีความชัดเจนและเชื่อมั่นได้ค่อนข้างสูง


ในทางตรงกันข้ามการมองอนาคตโดยใช้ทิศทางการพัฒนาเป็นตัวตั้งจะใช้ประโยชน์จากการคาดการณ์ภูมิอากาศในอนาคตในลักษณะที่แตกต่างกัน โดยในกรณีนี้รูปแบบของความต้องการน้ำของระบบและภาคส่วนต่างๆ ภายใต้ทิศทางการพัฒนาในแต่ละแบบจะถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกับปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคตในช่วงเวลาต่างๆ  ดังนั้นการคาดการณ์ภูมิอากาศที่หลากหลายไม่เป็นเอกภาพจึงกลับยิ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการมองอนาคตในแนวทางแบบนี้ เนื่องจากจะทำให้บอกได้ว่าทิศทางการพัฒนาในแต่ละแบบนั้นมีความ ทนทาน ต่อภูมิอากาศ (climate resistant) ในอนาคตหรือไม่  

ในปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มมีการสร้างภาพจำลอง (scenario) ของภูมิอากาศของประเทศในอนาคตที่มีรายละเอียดเชิงพื้นที่และเชิงเวลาที่ค่อนข้างสูงอยู่จำนวนหนึ่ง (ประมาณ 10 แนวทาง) โดยใช้ค่าตั้งต้นและวิธีการที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามการนำภาพจำลองภูมิอากาศเหล่านี้ไปใช้ในการมองอนาคตเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และ/หรือยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำยังมีอยู่น้อย และส่วนมากยังเป็นการมองอนาคตโดยใช้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นตั วตั้งเพื่อพยายามหาแนวทางในการรับมือมากกว่าเป็นการมองในเชิงโอกาสและข้อจำกัดของการพัฒนา ดังนั้นเพื่อให้ทิศทางการพัฒนาของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับปริมาณและรูปแบบของทรัพยากรน้ำในอนาคต จึงน่าที่จะมีการสนับสนุนการวิเคราะห์ในลักษณะนี้ที่เป็นระบบและเชื่อมโยงกับประเด็นด้านทรัพยากรและระบบทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ ที่หลากหลายอีกด้วย

บทความโดย : อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น