2554-02-18

การรับมือกับภูมิอากาศในระดับชุมชน

ทำไมการรับมือกับภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจึงเหมาะที่จะดำเนินการในระดับชุมชนในภาพเชิงกว้าง มากกว่าการใช้มาตรการระดับครัวเรือนหรือระดับปัจเจกบุคคล?
ชุมชนเป็นหน่วยทางสังคมที่มีสเกลเชิงพื้นที่ที่มีขนาดหลายพันจนถึงหลายหมื่นไร่ และมีเสกลการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจจะต้องใช้เวลาในระดับหลายๆ ปีถึงระดับทศวรรษ ซึ่งมาตราส่วนในระดับนี้เป็นมาตราส่วนระดับภูมิอากาศ ในขณะที่การตอบสนองในระดับครัวเรือนและระดับปัจเจกจะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงต่อการตอบสนองกับลักษณะและความแปรปรวนของสภาพอากาศที่มักจะเกิดขึ้นในระดับพื้นที่ทำกิน แปลงนา บ้านเรือน และเสกลเชิงเวลาในระดับของวันต่อวัน ฤดูต่อฤดูหรือปีต่อปีเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรการระดับครัวเรือนระยะสั้นเหล่านี้อาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับภูมิอากาศก็ได้โดยที่อาจจะไม่ส่งผลสุทธิต่อต้นทุนต่างๆ ของครัวเรือนมากนัก
การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยมาตรการระดับชุมชนนั้น นอกจากจะเป็นไปตามเสกลเชิงพื้นที่และเวลาของปัญหาแล้วยังสอดคล้องกับประเด็นทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่
        การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง ดังนั้นผลที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละครัวเรือน ณ เวลาใดเวลาหนึ่งจึงมีขนาดเล็ก การลงทุนเพื่อการรับมือในระดับครัวเรือนจึงอาจจะไม่มีความคุ้มค่าเท่ากับการลงทุนเพื่อรับมือกับปัญหาในระดับชุมชนซึ่งจะมีการสะสมของปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ระดับปัจเจกและครัวเรือนขึ้นมา ซึ่งจะทำให้ขนาดของการลงทุนใหญ่พอต่อการบริหารจัดการ
        การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกเป็นปัญหาสาธารณะซึ่งชุมชนในชนบทไม่ได้เป็นผู้ก่อที่สำคัญแต่สมาชิกของชุมชนกลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ดังนั้นการรับมือโดยการใช้ทรัพยากรที่เป็นของสาธารณะเพื่อส่วนรวมหมู่มากจึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการธรรมาภิบาล
        เป็นการดำเนินมาตรการโดยมองภาพในองค์รวมซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งเนื่องมาจากผลกระทบซึ่งกันและกันของการใช้มาตรการแบบแยกส่วน
มาตรการการรับมือในระดับชุมชนจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถโดยรวมของชุมชนเพื่อสนองต่อลักษณะและความแปรปรวนของสภาพอากาศ ณ เวลานั้นๆ โดยตัวอย่างของมาตรการ/ปัจจัยระดับชุมชนที่อาจจะส่งผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อขีดความสามารถของสมาชิกในชุมชนในการรับมือกับลักษณะอากาศของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ ปริมาณและการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่น น้ำ ตลาด ยุ้งฉางของชุมชน ทุนและสินเชื่อ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกลการเกษตรสาธารณะ ฯลฯ รวมถึงนโยบายและกติกาการจัดสรรทรัพยากรส่วนกลางของชุมชน เช่น ที่ดิน ป่าและน้ำอีกด้วย 
มาตรการต่างๆ เหล่านี้บางส่วนอาจจะมีอยู่แล้วในชุมชนในขณะที่บางส่วนอาจจะอยู่ในขั้นตอนการวางแผนหรือเตรียมการ การวิเคราะห์มาตรการชุมชนเหล่านี้ภายใต้บริบททางภูมิอากาศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ภายใต้ภาวะการณ์โลกร้อนแบบต่างๆ จึงจะทำให้ทราบว่าทิศทางและอนาคตของชุมชนเป้าหมายจะมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือไม่อย่างไร
การวิเคราะห์ความเปราะบางในระยะยาวจะมีเงื่อนไขหลักว่า ชุมชนและสังคมต้องมีวิสัยทัศน์ในระดับหนึ่งถึงทิศทางการพัฒนาในระยะยาวว่าน่าจะเดินไปในทิศทางใดได้บ้าง โดยในระยะแรกอาจจะมีความคิดที่หลากหลายในสังคม โดยการวิเคราะห์ในเบื้องต้นจะพยายามมองในทุกทางเลือกที่เป็นไปได้ โคยการหาความอ่อนไหว (sensitivity) ของแต่ละแนวทางต่อลักษณะอากาศและความแปรปรวนของสภาพอากาศในอนาคต 
หลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการพูดคุย (dialogue) เป็นระยะๆ เพื่อปรับความหลากหลายทางความคิดให้ลู่เข้าหากันเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อหาจุดเหมาะสมร่วมกันจากทั้งมุมมองทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป 
เรื่อง : ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จากเอกสาร การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการรับมือกับลักษณะอากาศและสอดคล้องกับภูมิอากาศของท้องถิ่น
ภาพจาก http://news.hatyaicart.com
ในขณะที่มาตรการระดับชุมชนนั้นถ้าไม่สอดคล้องกับภูมิอากาศของพื้นที่อาจจะส่งผลต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของชุมชนหรือของประเทศในภาพรวมในขนาดที่มีนัยยะสำคัญได้  

1 ความคิดเห็น:

  1. บางมาตรการหรือแนวทางการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ สำหรับชุมชนในมุมมองภาพรวม อาจจะไม่ใช่วิธีหรือหนทางที่ดีที่สุด แต่เป็นวิธีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนมากที่สุด....

    Community based adaptation to weather change not to climate change!

    ตอบลบ